ผู้มีความมั่งคั่งสูงลงทุนอะไร

ผู้มีความมั่งคั่งสูงลงทุนอะไร

ผู้มีความมั่งคั่งสูงลงทุนอะไร

ดิฉันอ่านพบรายงานของบอสตันคอนซัลติ้งกรุ๊ป (บีซีจี) เกี่ยวกับธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน เห็นว่าน่าสนใจ และในปีนี้ แคปเจมิไน ไม่ได้ออกรายงานประจำปีมา จึงขอนำรายงานของ บีซีจี มาเล่าแทนนะคะ แม้ข้อมูลพอร์ตการลงทุนจะไม่ละเอียดเท่าของแคปแจมิไน แต่ก็เห็นแนวโน้มการลงทุนของกลุ่มนี้ค่ะ

บีซีจี รายงานว่า ความมั่งคั่งรวมของผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก ณ สิ้นปี 2559 เท่ากับ 166.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,650 ล้านล้านบาท) เติบโต 5.3% จากปีก่อน และยังคาดต่อไปว่า จะโตต่อไปโดยเฉลี่ยปีละ 6% และภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2564 จะเติบโตเป็น 223.1 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 7,480 ล้านล้านบาท โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการเติบโตในอัตราสูงที่สุด

การเติบโตนี้มาจากสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ เป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิม (existing wealth) และอีกส่วนหนึ่งคือ ความมั่งคั่งใหม่ที่มาจากรายได้และการออมที่เพิ่มขึ้น (new wealth creation) โดยคาดว่า ตั้งแต่ปี 2556-2664 ความมั่งคั่งที่จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก จะมาจากผลตอบแทนของความมั่งคั่งเดิม 51% และมาจากความมั่งคั่งใหม่ 49% โดยภูมิภาคที่มีความมั่งคั่งใหม่ในสัดส่วนสูงที่สุดคือ เอเชียแปซิฟิกอีกนั่นแหละค่ะ โดยจะมีความมั่งคั่งใหม่ถึง 65% ส่วนอีก 35% จะเป็นผลตอบแทนจากความมั่งคั่งเดิม

ส่วนภูมิภาคที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “กินบุญเก่า”เยอะที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยจะเป็นผลตอบแทนจากความมั่งคั่งเดิมในสัดส่วน 79% และอีกเพียง 21% เป็นความมั่งคั่งใหม่

การเติบโตของเศรษฐกิจ และอัตราการออม เป็นสองส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งใหม่ค่ะ

ส่วนผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เป็นส่วนที่ทำให้ความมั่งคั่งเดิมเพิ่มขึ้น

บีซีจี ประมาณว่า ในปี 2559 จำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก (ความมั่งคั่ง 1 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป) มี 17.9 ล้านครัวเรือน มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งถึง 45% ในขณะที่ครัวเรือนที่เหลือ (ดิฉันค้นหาข้อมูลและคำนวณได้ประมาณ 1,482.1 ล้านครัวเรือน) ซึ่งมีความมั่งคั่งต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งรวมกัน 55%

นี่เป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำซึ่งวันนี้เราจะยังไม่พูดถึงนะคะ

มาถึงสิ่งที่พวกเราผู้ลงทุนสนใจกันดีกว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงเหล่านี้ลงทุนในสินทรัพย์อะไร

บีซีจีสำรวจพบว่า เฉลี่ยทั่วโลก ความมั่งคั่ง 166.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนี้ ลงทุนอยู่ในเงินสดและเงินฝาก ในสัดส่วน 39% ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ 17% และลงทุนในหุ้นทุนถึง 43% โดยในแต่ละภูมิภาคมีสัดส่วนการลงทุนต่างกันแยกได้เป็นสามกลุ่มคือ

กลุ่มที่หนึ่ง เน้นหุ้นทุน คือทวีปอเมริกาเหนือ มีสัดส่วนในการลงทุนในหุ้นทุนถึง 70% สัดส่วนลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ 16% และสัดส่วนลงทุนในเงินสดเงินฝาก 14%

กลุ่มที่สอง กลุ่มสมดุล คือยุโรปตะวันตก กลุ่มนี้มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นทุน 39% ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ 25% และลงทุนในเงินสดเงินฝาก 37%

กลุ่มที่สาม กลุ่มเน้นเงินสดเงินฝาก ประกอบด้วย เอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันออก ญี่ปุ่น ละตินอเมริกา และตะวันออกกลางและอัฟริกา มีเงินสด/เงินฝาก 65% 61% 59% 52% และ 50% ตามลำดับ และมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น 23% 24% 37% 11% และ 26% ตามลำดับ ที่เหลือเป็นการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้

ยิ่งดู ก็ยิ่งสอดคล้องกับบทความของดิฉันทั้งสองสัปดาห์ก่อน คือ สภาพคล่องยังมีอยู่ในโลกล้นเหลือ และผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวนมาก ยังมีการลงทุนในหุ้นทุนน้อยอยู่ เมื่อความมั่งคั่งโดยรวมเพิ่มขึ้น จะมีความกล้าที่จะจัดสรรมาลงทุนในหุ้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้มีความมั่งคั่งสูงรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุน จึงคาดว่าหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุนจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้

ดิฉันนำข้อมูลเพียงบางส่วนมาเล่าในสัปดาห์นี้ จริงๆแล้วรายงานนี้ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าด้วยค่ะ ว่าต้องปรับตัวอย่างไร และควรจับตาดูเทคโนโลยไหนเป็นพิเศษ

ท่านที่สนใจข้อมูลสามารถติดตามได้จากบทความ Global Wealth 2017: Transforming The Client Experience ของ The Boston Consulting Group ค่ะ