ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถึงจุดขายทำกำไร

ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถึงจุดขายทำกำไร

นโยบายการเงินประเทศไทยยังคงเป็นมิตรกับการลงทุนในตลาดหุ้น

ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนสถาบันมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ขณะที่นักลงทุนบุคคลทั่วไปทยอยขายหุ้น ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนรายบุคคลนั้นจะยังไม่เปลี่ยนแปลงจากยอดขายสุทธิ นับจากไตรมาส 3/2559 ทั้งนี้อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า

1)นักลงทุนรายบุคคลต้องการขายเพื่อรับรู้กำไรในพอร์ตการลงทุนบ้างภายหลังจากมีการถือครองหุ้นนานกว่า 12 เดือนโดยภาพหลักของตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนตัวในกรอบจำกัดขาดแรงกระตุ้นจูงใจให้เพิ่มเงินลงทุน แม้ว่าในความเป็นจริง โมเมนตัมของตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวกลับพร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนทั่วไปยังคงประเมินทิศทางเงินไหลเข้าเป็นระยะสั้นเท่านั้น

2)ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา 4 ปีขาดความคึกคักหลังจากนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตรหยุดชะงักพร้อมกับเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไปมากจนเพดานเต็ม พร้อมกับการเพิ่มพูลของหนี้ภาคครัวเรือนจนระดับสูงเต็มพดานแล้วเช่นกันส่งผลให้จำกัดการใช้จ่ายของคนในประเทศ ดังนั้น ยอดค้าขายของธุรกิจ ร้านค้าทั่วไปยังไม่กระเตื้องมากนัก ทำให้กระแสเงินสดของธุรกิจขนาดย่อมหรอยหรอไปมาก การดึงเงินลงทุนจากตลาดหุ้นไทยออกไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจยังคงเกิดขึ้น

3)แม้ว่าดัชนีเศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายของประชาชน การท่องเที่ยว การส่งออก ของประเทศไทย เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่นักลงทุนยังไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบต่อรายได้ ธุรกิจของส่วนตัว ความมั่นใจต่อทิศทางกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นยังคงไม่มากพอ ซึ่งแน่นอนหากดัชนีตลาดหุ้นสะท้อนการคาดการณ์ได้ถูกต้อง นั่นหมายความว่า smart investors กำลังประเมินว่า อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราเร่งตัวในไตรมาส 4/2560 และไตรมาส 1/2561 และย่อมหมายถึง กำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มอิงกับเศรษฐกิจภายในประเทศก็จะน่าจะดีด้วยเช่นกัน (ค่อนข้างสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีมุมมองว่า อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และ ประเทศไทยนั้นดีกว่าคาดการณ์เดิม) โดยทางปฎิบัติ นักวิเคราะห์จะเริ่มปรับเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้นไทยไปสู่ปี 2561 ที่ระดับ 1720 จุด (ค่าพีอีคาดการณ์ 15.5 เท่า) ในช่วงระยะเวลาไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

4)สำหรับอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังคงต่ำต่อไป สังเกตได้จากการเตือนของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ที่เตือนผู้ส่งออกว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ สิ่งนี้บ่งชี้ว่าประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า ดุลการค้าประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อไป อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ซึ่งไม่มีแรงกดดันที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเวลาอันใกล้เลย สำหรับมุมมองของบล.บัวหลวง เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นราวปลายไตรมาส 1/2561 แสดงว่า นโยบายการเงินของประเทศไทยยังคงเป็นมิตรกับการลงทุนในตลาดหุ้นปัจจุบัน ทั้งนี้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจว่าการถือครองตราสารหนี้ หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน

5)ธนาคารกลางสหรัฐ และ ธนาคารกลางยุโรป ส่งสัญญาณการดึงสภาพคล่องออกจากระบบเงินของโลกจะเป็นไปอย่างช้าๆ และ ระมัดระวัง แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะมีอัตราการขยายตัวได้ดี และอัตราว่างงานอยู่ในระดับปกติแล้วจากการแถลงการณ์ของนางเจเนท เยเลน แต่ท่าทีการปรับงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐยังคงเป็นน้ำเสียงที่ไม่แข็งกร้าวในเชิงนโยบาย ขณะเดียวกัน ท่าทีของประธานธนาคารกลางยุโรป ดูเสมือนอยากจะเลื่อนระยะเวลาในการชี้แจงแผนการลดปริมาณ QE ของทางยุโรปออกไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ น่าจะยังคงสนับสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงวิ่งปรับขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทะยานมาที่ระดับ 1,640 จุด ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม นักลงทุนยังคงไม่ต้องรีบขายทำกำไรมากนัก มุมมองของเราที่เดิมประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนตัวขึ้นเร็วยังคงอยู่ต่อไป