ผลการลดขนาดงบดุล & QE: สหรัฐ กับ ยุโรป

ผลการลดขนาดงบดุล & QE: สหรัฐ กับ ยุโรป

ในเดือนกันยายน 2017 นักวิเคราะห์หลายท่านมองคล้ายกันว่าน่าจะมีการประกาศแผนการลดขนาดงบดุลธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดและ

เกริ่นการลดขนาดการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรปหรือีซีบี บทความนี้ จึงขอประเมินว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของสหรัฐ หากเฟดตัดสินใจทำการลดขนาดงบดุล รวมถึงกรณีการลดขนาดการซื้อพันธบัตรของอีซีบีด้วย

ผลกระทบของฝั่งอเมริกากันก่อน จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยเฟด พบว่าโครงการ QE ทั้งหมด สามารถลดผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ได้ร้อยละ 1.2 ในปี 2013 ซึ่งหมายถึงอัตราการว่างงานของสหรัฐลดลงประมาณร้อยละ 1.25 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ประกอบกับงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โรเบิร์ต เองเกิล ประมาณการว่าโครงการ QE ทำให้ดัชนีหุ้นสหรัฐเพิ่มร้อยละ 11-15 และลดค่าเงินดอลลาร์ประมาณร้อยละ 4.5-5

ซึ่งหากเฟดเกิดลดขนาดงบดุล ผลก็น่าจะกลับมาในทิศทางตรงกันข้าม อย่างไรก็ดี นางเยลเลน ได้เคยให้ความเห็นว่าแค่การประกาศว่างบดุลเฟดจะลดขนาดลง ก็เปรียบเสมือนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ถึงสองครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่ว่าธรรมชาติของการลด QE นั้นแตกต่างจากการเพิ่ม QE นั่นคือ    หากพิจารณาจากตารางที่ผมประมาณการแนวทางการเปลี่ยนแปลงของขนาดงบดุลสำหรับธนาคารกลางแต่ละแห่ง จะพบว่า สำหรับกรณีของเฟด การประกาศแผนการลดขนาดงบดุลของเฟด แสดงว่าเฟดอาจจะใช้เวลาถึง 4-5 ปี กว่าที่จะลดขนาดงบดุลให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายขนาดงบดุลที่ต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าช่วงที่ก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

นอกจากนี้ การใช้ผลการคาดการณ์ของเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยของสมาชิกเฟดก็จะทำให้ผลกระทบของ QE ต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลดลงเช่นกัน

คราวนี้ หันมาดูตัวเลขจริงในอดีตว่าการลดการกระตุ้นทางนโยบายการเงิน ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอย่างไรบ้าง

หากพิจารณาปฏิบัติการที่เฟดออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือ Exit Strategy ในช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีอยู่ด้วยกัน 2 ครั้ง คือ ปี 1994 ซึ่งเปลี่ยนโหมดจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาเป็นแบบตึงตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลลัพธ์คือ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งระยะเวลา 1 ปีและ 10 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 1 ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.69 ภายในระยะเวลา 12 เดือน ในทางกลับกันในปี 2003-2007 นั้น เฟดเปลี่ยนโหมดดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 1 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.97 ทว่าใช้เวลาถึงเกือบ 4 ปี นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 10 ปี เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.01

แน่นอนว่า จากความเป็นไปได้ที่ว่าหากเฟดลดขนาดการซื้อพันธบัตร อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐก็น่าจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คำตอบที่ได้ย่อมชี้ไปว่าความเร็วในการลดขนาดการซื้อพันธบัตรของเฟดจะคล้ายคลึงกับปี 2003-2007

หันมาพิจารณาฝั่งยุโรปกันบ้าง ผลกระทบของการซื้อพันธบัตรของอีซีบี หลังจากปฏิบัติการ 6 เดือนต่อจีดีพีที่แท้จริงอยู่ราวร้อยละ 0.18 แล้วค่อยๆลดผลกระทบจนเหลือร้อยละ 0.05 ในอีก 2 ปีต่อมา ส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม นั่นคือ ในช่วงหลังจากปฏิบัติการ 6 เดือน ผลกระทบเพียงร้อยละ 0.06 และขยับขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.36 ในเวลา 2 ปีต่อมา ซึ่งถือว่าผลในระยะสั้น ส่งผลต่อจีดีพีแรงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้อีซีบีต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการประกาศลดขนาดการซื้อพันธบัตร

โดยสรุป ผลกระทบของทั้งสหรัฐและยุโรป เหมือนจะบีบให้เฟดและอีซีบีต้องลดขนาดของงบดุลและ QE ตามลำดับ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากๆครับ