เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย (1)*

เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย  (1)*

ขณะที่ผมทำหน้าที่ กรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2557-2558 นั้น

ผมได้เสนอความเห็นที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ต้องอาศัยการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์อยู่สองเรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่ง ยุทธศาสตร์เงินบาท สู่ เงินสกุลภูมิภาค เรื่องที่สอง การยกเลิกธนบัตรบางรุ่นเพื่อจัดการกับการฟอกเงิน ขบวนการผิดกฎหมายและการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งสองเรื่องนี้ที่นำเสนอความเห็นไว้ในที่ประชุมแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ส่วนเรื่องอื่นๆที่เคยเสนอความเห็นเอาไว้ในเรื่องระบบการชำระเงิน ระบบสถาบันการเงินและนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการได้ดีมาก และ ธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นสถาบันที่มีความมั่นคงและเข้มแข็งมาก (ต้องยกคุณความดีให้กับผู้บริหารและพนักงานทุกท่านที่ได้ร่วมสร้างสถาบันแห่งนี้)

กว่าจะมาถึงวันนี้ ภายใต้ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.วิรไท สันติประภพ และทีมงานรุ่นใหม่

ก่อนวันที่ผมในฐานะกรรมการธนาคารจะเสนอ ยุทธศาสตร์เงินบาท เรื่องที่สอง การยกเลิกธนบัตรบางรุ่น นั้น ธนาคารแห่งประเทศได้ผ่านอะไรมามากมายตั้งแต่เป็น สำนักธนาคารชาติไทย

ก่อนที่ผมจะพูดถึงเรื่องอนาคตกับข้อเสนอสองเรื่องดังกล่าว ผมจะขอเล่าถึงความเป็นมาของแบงก์ชาติโดยสังเขปผ่านผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ละท่านกันก่อน

ภายหลังเมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 จึงมีการสนับสนุนให้มีธนาคารชาติขึ้นอีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้นำเรื่องเข้าหารือกับ นายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ที่ปรึกษาการคลังในขณะนั้น ซึ่งให้ความเห็นว่า ยังไม่สมควรแก่เวลาที่จะจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีผู้รู้ผู้ชำนาญทางด้านการธนาคาร ไม่มีทุน และยังไม่มีระบบธนาคารพาณิชย์ของคนไทยด้วย  รัฐบาลได้ผลักดันเรื่องการตั้งธนาคารกลางอีกครั้งหนึ่งในปี 2478 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชาติ พ.ศ. 2478 ซึ่งหลวงวรนิติปรีชาเป็นผู้ร่างขึ้น  เสนอให้ควบรวมบริษัทแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ให้เป็นธนาคารชาติ

พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเพียง 8 มาตรา ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางในเวลานั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัตินี้ยังขาดความรอบคอบและรายละเอียดยังไม่ชัดเจน

ต่อมาเมื่อ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อธิบดีกรมศุลกากรย้ายมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งแต่เดิมจะใช้ที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้งสิ้น ในครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามทำความเข้าใจกับที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงการคลัง ให้เข้าใจถึงความจำเป็นและเจตนารมณ์ของทางการ ซึ่งในที่สุดก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีในการช่วยร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้น นับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การตั้งธนาคารกลางของประเทศไทยในที่สุดในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารชาติไทยนั้น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่ปรึกษากระทรวงการคลังฝ่ายไทยรับผิดชอบในการร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติต่อจากที่ปรึกษาต่างประเทศที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว

ในที่สุดความพยายามในการจัดตั้งธนาคารชาติไทยจึงได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยในวันที่ 21 กันยายน 2482 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี และแนบร่าง พ.ร.บ. เตรียมการจัดตั้งเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีเนื้อความสำคัญบางส่วนดังนี้

“...เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดต่อนานาประเทศอันเกี่ยวด้วยธนาคารชาติไทย ข้าพเจ้าได้ให้

นายดอลแบร์ ซึ่งรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังด้วยนั้นได้ไปติดต่อและชี้แจงกับธนาคารต่างประเทศที่สำคัญๆ ในกรุงเทพฯนี้ให้ทราบว่าการเตรียมการจัดตั้งธนาคารชาติก็ดี หรือการจัดตั้งธนาคารชาติไทยก็ดี ได้กระทำไปโดยมิได้คิดที่จะข่มเหงธนาคารต่าง ๆ แต่กลับจะเป็นการตรงข้าม คือ ในยามที่เครดิตระหว่างประเทศฝืดเคืองเช่นนี้ ธนาคารชาติไทยก็ดี หรือ สำนักงานธนาคารชาติไทยอันเริ่มตั้งขึ้นในระยะเตรียมการก็ดี จะเป็นพี่เลี้ยงให้ธนาคารทั้งหลายในกรุงเทพฯ นายดอลแบร์ได้มารายงานว่าธนาคารที่สำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ ได้เข้าใจวัตถุประสงค์นี้ดีแล้ว

ข้าพเจ้าจึงเห็นเป็นการสมควรที่เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482 มาพร้อมกันนี้

“ในการจัดตั้งธนาคารชาติไทยนั้นจะต้องเตรียมการเป็น 2 ระยะคือ 1. ในระยะแรกจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติขึ้นเป็นทะบวงการเมือง สังกัดกระทรวงคลัง โดยยังมิให้บุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นส่วนราชการอย่างหนึ่ง หรือ ถ้าจะสมมติให้ง่ายขึ้น ก็คล้ายกับเป็นการตั้งองค์การของรัฐบาลโดยโอนหน้าที่บางอย่างอันเกี่ยวแก่กิจการธนาคารมาให้สำนักงานนี้ และเปิดรับฝากและจ่างเงินขึ้นบ้างโดยค่อยทำค่อยไป แต่ส่วนใหญ่จะกระทำต่อทะบวงการเมือง หรือ ต่อเทศบาล 2. เมื่อเตรียมการนี้ได้ลุล่วงไปประกอบจนฝึกหัดเจ้าหน้าที่เห็นว่าจะตั้งเป็นรูปธนาคารชาติไทยได้แล้ว ในกรณีนั้นต้องจัดตั้งธนาคารชาติไทยเยี่ยงทำนองธนาคารชาติทั้งหลายในโลก โดยตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธนาคารชาติไทย”

ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท.พ.ศ.2548 ธปท.ได้รับอำนาจที่จะประกอบกิจการอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง คือ นายธนาคารของรัฐบาล นายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ การดูแลทุนสำรองเงินตราและมีเอกสิทธิ์ในการออกธนบัตรอย่างไรก็ตาม พันธกิจในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินนั้นไม่ได้ถูกกล่าวถึงไว้โดยตรงไว้ใน พ.ร.บ. แม้ว่าเจตนารมณ์การจัดตั้ง ธปท. ได้ปรากฏในบันทึกร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงเป็นผู้ร่าง ดังความว่า “สมควรจัดให้มีธนาคารประเภทที่เรียกกันว่า ‘ธนาคารกลาง’ (Central Bank) มีหน้าที่จัดระเบียบการเงินตราและควบคุมเครดิตกับทั้งเป็นธนาคารของรัฐและธนาคารของธนาคารอื่นทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ในอันจะนำมาซึ่งความมั่นคงในการเงินของประเทศ”

ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมการจัดตั้งธนาคารชาติไทยต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแล้ว ให้เปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติเป็น ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย

เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2482 วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยก็เพื่อเตรียมพนักงานสำหรับการทำงานในธุรกิจธนาคารกลาง และทำหน้าที่บริหารเงินกู้ของรัฐบาล สำนักงานธนาคารชาติไทยได้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นวันชาติในสมัยนั้น จึงได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

////////

* ชื่อเต็ม:

เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย 

จนถึงยุทธศาสตร์เงินบาท สู่เงินสกุลภูมิภาค และการยกเลิกธนบัตรบางรุ่น (1)