ถึงเวลารณรงค์ให้ลดขนาดของระบบราชการ?

ถึงเวลารณรงค์ให้ลดขนาดของระบบราชการ?

ในช่วงสัปดาห์หลังนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว สังคมออนไลน์พากันประณามเรื่องการติดตั้งระบบไฟฟ้าและประชาเพื่อต้อนรับนายกฯ

ต้นเหตุของการประนามนั้นเกิดจากชาวบ้านออกมาประจานการรื้อถอนระบบไฟฟ้าและประปาซึ่งพวกเขาคาดหวังว่าจะคงอยู่ให้พวกเขาใช้เมื่อนายกฯ กลับไปแล้ว

การที่ชาวบ้านคาดหวังเช่นนั้นคงเกิดจากความไม่คุ้นชินกับการทำงานของระบบราชการ กล่าวคือ ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ออกไปตรวจงานในพื้นที่มิได้สนใจในสภาพที่แท้จริงว่าเป็นเช่นไรเนื่องจากนั่นมิใช่เป้าหมายของพวกเขา เป้าหมายอาจได้แก่การสร้างภาพ หรือการได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่อ ในการออกไปตรวจงานนั้น พวกเขาต้องการความสะดวกสบายทุกอย่างไม่ต่างกับการนั่งอยู่ในสำนักงานปรับอากาศอย่างดี ส่วนข้าราชการในพื้นที่ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของผู้ใหญ่พร้อมกับปรับสภาพให้ดูดีแบบผักชีโรยหน้า หากไม่ทำเช่นนั้น โอกาสก้าวหน้าในอาชีพแทบไม่มี กระบวนการนี้มีตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีถึงระดับหน่วยงานในท้องถิ่นห่างไกล ขอยกตัวอย่างน่าเศร้าใจที่ได้จากการเข้าไปสนับสนุนการศึกษาในชนบท

ตัวอย่างแรกคล้ายการไปเยี่ยมสระแก้วของนายกฯ กล่าวคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดออกไปตรวจเยี่ยมและดูงานของอำเภอ ในการตรวจเยี่ยมนั้นมีการแวะชมห้องสมุดชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในเขตสำนักงานที่ว่าการอำเภอด้วย ตามปกติห้องสมุดให้บริการด้านการมีหนังสือทั่ว ๆ ไปให้อ่านและการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่ระบบนั้นไม่ทันสมัยทำให้การบริการไม่ทันใจของผู้รับ ก่อนถึงวันผู้ว่าฯ ไปเยี่ยม ทางอำเภอสั่งติดตั้งระบบไร้สายชนิดให้บริการได้ทันใจขึ้น หลังผู้ว่าฯ กลับ ระบบนั้นถูกถอดออกไปคงเหลือไว้แต่สายเส้นใยด้วน ๆ ห้อยต่องแต่งอยู่บนเสาต้นหนึ่งใกล้ห้องสมุด เรื่องนี้ไม่มีการประจานกันออกสื่อในแนวนายกฯ ไปเยี่ยมสระแก้ว

ทั้งนี้คงเพราะตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเล็กกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตามธรรมดามีผู้ใช้ห้องสมุดวันละไม่กี่คนซึ่งมิได้สนใจใช้บริการอินเทอร์เน็ตมากนัก ผู้ใช้บริการนั้นเป็นประจำได้แก่พนักงานห้องสมุดเอง

การตรวจเยี่ยมโรงเรียนของผู้อำนวยการเขตการศึกษาก็มีการต้อนรับขับสู้และการทำผักชีโรยหน้าในแนวดังกล่าว ตัวอย่างที่ยกมาเป็นการตรวจงานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนชั้นประถมโดยตัวแทนของผู้อำนวยการเขตการศึกษา ผู้เข้าใจในสาระของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ย่อมดีใจที่ระบบการศึกษาของรัฐได้บรรจุเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียน แต่เมื่อได้สัมผัสการปฏิบัติของผู้ดูแลการดำเนินการตามหลักสูตรเช่นตัวอย่างนี้ ความดีใจได้กลายเป็นความหดหู่ ทั้งนี้เพราะผู้ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนไม่สนใจดูสวนครัวอินทรีย์ซึ่งมีพืชผักและสมุนไพรรวมทั้งผลไม้ที่ปลูกไว้เต็มพื้นที่หลังอาคารเรียนเกือบสองไร่ โรงเรียนจึง “สอบตก” ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณอันจำกัดซื้อท่อปูนหลายลูกมาใส่ดินปลูกสมุนไพรตั้งไว้หน้าอาคารเรียน ผู้ตรวจเยี่ยมจึงให้ “ผ่าน” ส่วนโรงเรียนที่ไม่มีพื้นที่ทำสวนครัวเช่นนั้นสร้างแปลงดินเล็ก ๆ ในกรอบไม้ขึ้นมาตรงหน้าอาคารเรียนเพื่อปลูกผักและสมุนไพรไว้ก่อนวันรับตรวจ หลังจากได้คะแนน “ผ่าน” และผู้ตรวจกลับไปแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนก็สั่งให้รื้อแปลงเหล่านั้นทิ้งทันที โรงเรียนจำนวนมากทำแบบนี้เช่นกัน

เนื่องจากการศึกษาเกิดขึ้นตลอดเวลา เด็กเรียนรู้จากตัวอย่างสารพัดที่พวกเขาเห็นเป็นประจำทั้งในและนอกโรงเรียน ตัวอย่างที่ยกมาอยู่ในกระบวนการศึกษาของเด็กด้วย นั่นหมายความว่าพวกข้าราชการต่างช่วยกันสอนเด็กให้เป็นนักผลาญเวลาและงบประมาณพร้อมกับการเป็นนักผักชีโรยหน้า อาจคาดเดาได้ว่าบทเรียนที่เด็กรับไปคงทำให้พวกเขาก้าวหน้าถ้าพวกเขารับราชการดังข้าราชการที่ผ่านมา นั่นย่อมเป็นการส่งต่อระบบที่เป็นตัวถ่วงการพัฒนามากกว่าจะเป็นตัวเอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อไป หรือมองได้ว่าเป็นการส่งต่อระบบความฉ้อฉล หรือวงจรอุบาทว์ ฉะนั้น ถ้าหวังจะให้เมืองไทยพ้นสภาพที่ถูกตราว่าตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความทันสมัยแต่ไม่พัฒนาดังที่เป็นมานาน องค์กรที่ต้องการปราบความฉ้อฉลจะต้องรณรงค์ให้ลดการทำงานแบบที่อ้างถึง สิ่งแรกที่ควรรณรงค์คงได้แก่การลดขนาดของระบบราชลงอย่างเร่งด่วน