จีนเรียนรู้อะไรจากโซเวียต?

จีนเรียนรู้อะไรจากโซเวียต?

มีอาจารย์ที่ผมนับถือเคยบอกผมว่า ถ้าอยากเข้าใจการเมืองจีน ต้องดูว่าจีนเรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต

ส่วนถ้าอยากเข้าใจเศรษฐกิจจีน ก็ต้องดูว่าจีนเรียนรู้อะไรจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของสี่เสือแห่งเอเชีย (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง)

วันนี้ผมจะชวนคุยเรื่องการเมืองจีน ได้เคยมีรายงานวิจัยของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งสรุปสาเหตุของความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต จนนำไปสู่การล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 ไว้ดังนี้

หนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตล้มเหลวในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยสาเหตุมาจากการไม่ยอมปรับใช้กลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากร เมื่อเศรษฐกิจไม่โต จึงนำไปสู่ความไม่พอใจในสังคมและเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง

สอง ระบบการเก็บข้อมูล และการนำเสนอข่าวของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตเป็นระบบปิด ทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรคและของรัฐบาลไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ได้รับฟังแต่ข้อมูลด้านเดียวของพรรค ไม่เข้าใจโลกความเป็นจริงในสังคมข้างนอก ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเอง และปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเหมาะสม

สาม ระบบการบริหารและการตัดสินใจทางนโยบายรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางมากเกินไป และใช้เวลานานมากในการตัดสินใจและดำเนินนโยบาย

สี่ การปฏิรูปของกอร์บาชอฟ กลับนำไปสู่การผ่อนคลายการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ แทนที่จะปฏิรูปการบริหารจัดการภายในพรรค

เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงมีหลักคิดในการรักษาอำนาจ ดังนี้ 

เน้นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยหันมาปรับใช้กลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากร แทนที่จะใช้ระบบวางแผนและกำหนดจากส่วนกลางดังในอดีต รวมทั้งอาศัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาล เป็นตัวนำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

อาศัยการเก็บข้อมูลและการนำเสนอข่าวที่เปิดกว้างมากขึ้น เปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรค มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และนำผลสำรวจมาเป็นตัวกำหนดนโยบาย ว่ากันว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนี่แหละที่เป็นลูกค้าใหญ่ของบริษัทรับทำโพลของจีน

กระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตแต่แรกอยู่แล้ว เพราะพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลาง แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตงเป็นต้นมา ก็มีการกระจายอำนาจไปยังพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับมณฑลค่อนข้างมาก ระบบของจีนในปัจจุบัน ก็เป็นระบบที่พรรคคอมมิวนิสต์มณฑลมีบทบาทในการบริหารจัดการภายในมณฑลสูง โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากส่วนกลาง

การปฏิรูปการเมืองของจีน จะเน้นที่การปรับปรุงระบบบริหารจัดการภายในพรรค แต่ยังยึดหลักการนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเคร่งครัด จะไม่ยอมผ่อนคลายการนำของพรรค และไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแข่งขันกับพรรคอย่างเด็ดขาด

พัฒนาการของระบบการเมืองจีน นับตั้งแต่ยุคเปิดและปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง ในปี ค.ศ. 1978 เป็นต้นมา นับว่าเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเหมาเจ๋อตงเป็นอย่างมาก ผู้นำสูงสุดของจีนนั้น ได้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติต่อเนื่องกันมาจนถึงผู้นำรุ่นที่ 5 คือ สีจิ้นผิงในปัจจุบัน จีนในยุคปัจจุบันไม่ใช่ระบอบเผด็จการที่มีผู้นำสูงสุดคนเดียวครองอำนาจตราบจนวันตาย แต่เป็นระบบรัฐราชการขนาดมหึมาภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

ภายในพรรคมีระบบการบริหารงานด้วยคณะกรรมการหลายชุด โดยเป็นการบริหารเป็นทีม ไม่มีผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวอีกต่อไป แม้ว่าในปัจจุบัน สีจิ้นผิงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากกว่าผู้นำรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็ยังบริหารร่วมกับทีมงาน

ประชาชนจีนมีจำนวน 1.4 พันล้านคน ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิกประมาณ 85 ล้านคน บุคลากรของพรรคเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในระบบราชการ รวมทั้งในรัฐวิสาหกิจด้วย

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการปรับตัวที่สำคัญ คือ เปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคและรัฐบาล รวมทั้งสำรวจความพึงพอใจของประชาชนตลอด เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แก้ปัญหาที่ประชาชนสนใจ ป้องกันไม่ให้เกิดชนวนความไม่พอใจ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดเป็นภัยคุกคามพรรคคอมมิวนิสต์

ปัญหาหนักอย่างหนึ่งคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งรุนแรงมากในจีน แต่นับจากสีจิ้นผิงเข้ารับตำแหน่ง ก็ได้จัดให้การปราบคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ของพรรคถูกลงโทษทางวินัยมากกว่า 100,000 คน แล้ว นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าเป็นการปราบคู่แข่งทางการเมืองและเพิ่มอำนาจให้แก่ตัวสีจิ้นผิงเอง แต่การปราบปรามคอร์รัปชั่นที่จริงจังและเห็นผลชัดเจนก็ทำให้ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนจีนไม่น้อย

ระบบการเมืองจีนจึงไม่ใช่เผด็จการเต็มใบอย่างที่เราเข้าใจ เพราะเป็นระบบเผด็จการที่ได้ปรับตัวมากพอสมควร (เพื่อความอยู่รอดของตัวเองด้วย) เน้นพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก เปิดรับฟังความคิดเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังคงเป็นเผด็จการดังเดิม ในแง่ที่ว่า ยังคงเดินหน้าปราบปรามศัตรูของพรรคอย่างเด็ดขาด เสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างในหลายเรื่องยังถูกจำกัด ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ (และของพรรคด้วยนั่นเอง)

ส่วนใครก็ตามที่คิดว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจะนำไปสู่ประชาธิปไตยในจีน อาจต้องคิดใหม่ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามปรับตัวอยู่ตลอด เพื่อความอยู่รอดของตน และคนจีนส่วนใหญ่ก็ยังมองไม่เห็นทางเลือกอื่น และไม่ต้องการเสี่ยงกับการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม หากเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง

หันกลับมาดูไทยในยุคปัจจุบัน ไม่แน่ว่า ถ้าเราอยากเข้าใจการเมืองไทย อาจต้องดูว่าผู้นำไทยเรียนรู้ (หรือลอกเลียน) อะไรจากจีนบ้าง?