ท่องเที่ยวชุมชน : ใครได้?

ท่องเที่ยวชุมชน : ใครได้?

ว่าไปแล้ว ประเทศไทยก็มีชื่อเสียง สิ่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งมหัศจรรย์ระดับโลก เช่น พีระมิด ทัชมาฮาล หรือนครธม

แหล่งท่องเที่ยวของไทยได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ เช่นBest Destination in Asia for 2017 ของ TripAdvisor ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวของไทยติดอันดับ 1 ใน 25 ถึง 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต (ลำดับที่ 3) เกาะสมุย (ลำดับที่ 7) กรุงเทพฯ (ลำดับที่ 8) เชียงใหม่ (ลำดับที่ 12) และเกาะเต่า (ลำดับที่ 15) และ Best Tourist Destination of the Year Awards 2016 จาก Ctrip.com ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย 5 แห่ง (กระบี่ เกาะสมุย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต) ได้รับรางวัลดังกล่าวรวมกันถึง 9 รางวัล นอกจากนี้ ก็ยังมีรางวัลชายหาดดีที่สุดของเอเชียในปี พ.ศ. 2558 จาก World Travel Awards เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ในปี พ.ศ. 2560 ที่รายงานโดย World Economic Forum (WEF) 

แสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวไทยยังคงมีปัญหาและความท้าทายในเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อยู่ในลำดับที่ 122 จาก 136 ประเทศ) ที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันเป็นผลมาจากการขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และปัญหาด้านความปลอดภัยภายในประเทศ (อยู่ในลำดับที่ 118 จาก 136 ประเทศ) โดยเฉพาะในเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความท้าทายสำคัญในด้านสุขภาพและสุขอนามัยในเรื่องของการติดเชื้อ HIV (Human immunodeficiency virus) และมาเลเรีย (อยู่ในลำดับที่ 106 และ 102 จาก 136 ประเทศ ตามลำดับ)

เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐานและสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวไทย แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) จึงให้ความสำคัญกับการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ การอนุรักษ์รักษาแหล่งท่องเที่ยวที่เปราะบาง การให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลนักท่องเที่ยวและดูแลด้านความปลอดภัย รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาสินค้าและบริการบนพื้นฐานของมรดกและวัฒนธรรมท้องถิ่น หนึ่งในสาระสำคัญของแผนดังกล่าว คือ การกระจายการพัฒนาการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ใหม่โดยให้ประชาชนในพื้นที่และ/ท้องถิ่นมีส่วนร่วม 

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งในอนาคตการมีส่วนร่วมของชุมชนและ/คนท้องถิ่นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวไทย

เพื่อเข้าใจถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวของคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมและระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน งานศึกษาของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้พยายามค้นหาคำตอบว่า คนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีความแตกต่างทางด้านสภาพแวดล้อมและระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวมีการรับรู้การพัฒนาและผลประโยชน์-ผลเสียจากการพัฒนาการท่องเที่ยวของท้องถิ่นแตกต่างกันอย่างไร

ในงานศึกษาดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คนท้องถิ่นประมาณ 1,500 คน ใน 6 พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย (สัมภาษณ์พื้นที่ละประมาณ 250 คน) ได้แก่ เชียงแสน ปาย เชียงคาน เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย และอ่าวนาง ซึ่งมีระดับการพัฒนา สภาพแวดล้อม และตลาดนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน พบว่า คนในชุมชนเห็นว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวของท้องถิ่นก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อท้องถิ่น (หรือชุมชน) ในระดับ มากโดยเฉพาะในเรื่องของการกระตุ้นให้คนท้องถิ่นร่วมมือกันดูแลและพัฒนาท้องถิ่นให้น่าอยู่น่าเที่ยว และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น 

รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการมีงานทำและรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็สร้างผลเสียต่อท้องถิ่น (หรือชุมชน) ในระดับ “ค่อนข้างมาก” โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของการถูกแย่งงานจากคนนอกพื้นที่ เกิดความแออัด ขยะ และมลพิษเพิ่มขึ้นในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังคงให้ผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย ดังนั้นคนท้องถิ่นจึงยังสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับ “มาก” โดยสนใจที่จะสนับสนุนในลักษณะของการให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของท้องถิ่นกับผู้ที่สนใจและ/นักท่องเที่ยวในทุกครั้งที่มีโอกาส 

ข้อน่าสังเกตก็คือ ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมิใช่เป็นผลประโยชน์ที่คนท้องถิ่นรับรู้ในลำดับแรก แต่กลับเป็นผลประโยชน์และผลเสียด้านสังคมโดยที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องขยะและน้ำเสียเป็นผลเสียสำคัญจากการพัฒนาการท่องเที่ยวที่คนท้องถิ่นตระหนัก สำหรับสิ่งสำคัญที่บ่งชี้พฤติกรรมการสนับสนุนการพัฒนาท่องเที่ยวของคนท้องถิ่น ได้แก่ การที่คนท้องถิ่นให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของท้องถิ่นกับผู้ที่สนใจและ/นักท่องเที่ยวทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งประการหลังนี้ก็คือที่มาของสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวพอใจในอัธยาศัยของคนไทย

อย่าลืม การขาย การท่องเที่ยววิถีไทยก็คือขายบริการท่องเที่ยวพ่วงอัธยาศัยของคนไทยไปด้วย หากรัฐบาลต้องการให้รายได้จากวิถีไทยมั่นคงและยั่งยืนก็ต้องดูแลไม่ให้ผลเสียนั้นทำให้ประชาชนต่อต้านการท่องเที่ยวดังที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ