คลุกวงในสตาร์ทอัพ  TixGet.com - Creden.co

คลุกวงในสตาร์ทอัพ  TixGet.com - Creden.co

ด้วยเป็นคนที่ชอบคิด อยากทำนู่น อยากทำนี่อยู่ตลอดเวลา ผมจึงมักมีไอเดียใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ

แต่ปัญหาคือ “คิดแล้วชอบลงมือทำ” ส่งผลให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีอะไรๆ ให้ทำเต็มไปหมด...

หนึ่งในนั้นได้มีส่วนร่วมกับ Shippop.com ซึ่งทำให้เห็นแนวทางที่จะช่วยให้สามารถก้าวไปถึงสิ่งที่อยากทำได้โดยการ “ทำร่วมกับคนอื่นๆ” โดยสร้างทีมขึ้นมา ทีมที่มีความคิดคล้ายๆ กัน ทีมที่มีความหลงใหล หรือ “Passion” ในสิ่งที่คิดขึ้นมาเหมือนกัน

พร้อมกันนี้ สามารถดึงสิ่งที่ถนัด ศักยภาพที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดทั้งด้านการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การเงิน คอนเนคชั่น การขยายฐานธุรกิจ รวมถึงซีเนอร์ยีกับธุรกิจในเครือทั้งหมดที่มี โดยที่ไม่ต้องลงมือบริหารจัดการด้วยตนเอง และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทีมที่เวลา สามารถโฟกัสกับสิ่งๆ นั้นได้อย่างเต็มที่

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นผมเริ่มติดใจกับโมเดลการทำธุรกิจในลักษณะนี้ เลยเริ่มมาใช้กับสตาร์ทอัพอย่าง “TixGet.com” และ “Creden.co” โดยทั้ง 2 รายต้องใช้เวลาปั้นอยู่นานมากๆ กว่าจะเป็นรูปร่างต้องผ่านหลายเหตุการณ์ ทั้งเปลี่ยนทีมหลายครั้ง เหตุเพราะความที่มันเริ่มต้นที่ไอเดีย มันจึงต้องมีการลงมือลงแรงกันไม่ว่าจะด้าน Research, Feasibility ,Business Plan และการทำ MVP หรือ Product ตั้งต้นออกมา

สำหรับ TixGet.com เริ่มต้นจากการที่มีแนวคิดอยากทำ “Attraction Booking Site” มาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากเล็งเห็นว่าแม้มีแต่เว็บไซต์บริการจองโรงแรม ทว่าทำไมถึงไม่มีเว็บสำหรับจองสถานที่ท่องเที่ยวบ้าง? เรื่องนี้ได้แต่เก็บไอเดียไว้ในใจมาตลอด เคยประกาศหาทีมมาร่วมกันทางเฟซบุ๊คและมีน้องๆ ติดต่อมา แต่ด้วยความที่อาจเกิดความผิดพลาดได้เลยไปไหนได้ไม่ไกลเท่าไร

กระทั่งมีโอกาสพบกับ “ปีเตอร์” เจ้าของโดนัทแดดดี้โด โดนัทของไทยชื่อดัง และร้านอาหารมาเรียชื่อดังย่านราชพฤกษ์ ช่วงกลางปี 2559 ซึ่งมาปรึกษาถึงโครงการสตาร์ทอัพของเขาเองว่าโอเคไหม พอได้ดูเลยบอกว่าไม่โอเคเท่าไร… เลยลองเสนอให้นำโปรเจค TixGet.com ไปทำ และเริ่มทำงานร่วมกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ระหว่างเส้นทางต้องพยายามช่วยกันผลักดัน ทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ โดยเฉพาะร่วมโครงการประกวดต่างๆ เช่น โครงการของซิป้า โครงการสตาร์ทอัพของจุฬาฯ รวมไปถึงสมัครเข้าร่วมโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท แบตช์ 5

ส่วน Creden.co เริ่มจากไอเดียที่ต้องการทำ “Credit Scoring” ขึ้นมา แรงบันดาลใจมาจากที่มีโอกาสไปบรรยายเกี่ยวกับฟินเทคและบิ๊กดาต้าให้กับ ก.ล.ต. หลังบรรยายจบสนใจอย่างมากที่จะนำดาต้าทั้งหมดในกลุ่ม บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ (efrastucture) มารวมเข้าด้วยกัน ทั้งข้อมูลโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ เพย์เมนท์ แล้วนำมาทำ “บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์”

เช่นเดิม ผมเชื่อว่าการนำโปรเจคที่ทำเข้าโครงการประกวดจะเป็นตัวเร่งทำให้ต้องรีบเดินไปข้างหน้า สามารถผลักดันตนเองได้ดีขึ้น จึงสมัครเข้าโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท แบตช์ 5 และในที่สุดเข้ารอบ 12 ทีม จากนั้นเริ่มลุยกันเต็มที่

หลังจากนั้น เริ่มนำโปรเจคไปคุยกับ ธนาคารหลายๆ แห่ง รวมถึงบริษัทด้านการเงินต่างๆ ผลที่ได้คือได้รับความสนใจ เข้าตานักลงทุน เหตุผลสำคัญเพราะสิ่งที่ทำออกมา ตอบโจทย์ที่ธนาคารและสถาบันการเงินต้องการจริงๆ รวมแล้วใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากเริ่มลงมือระดมทุนจากนักลงทุนได้ถึง 3 ราย

โดยสรุปแล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสตาร์ทอัพทั้ง 2 ราย รวมไปถึง Shippop.com แตกต่างอย่างมากกับการสร้างบริษัทของผมเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทั้งวิธีคิด วิธีการเติบโต วิธีการหาเงิน วิธีการขยายธุรกิจ วิธีการนำเสนองาน ทั้งพบว่าสตาร์ทอัพนั้นเร็วกว่า ไปได้ไกลกว่า ตื่นเต้นมากกว่า กล่าวได้ว่า คนรุ่นเก่าๆ ที่เคยทำธุรกิจมาก่อนแทบจะต้องเรียนรู้อีกมากหากต้องมาทำสตาร์ทอัพ

การทำสตาร์ทอัพนั้นทีมสำคัญมากๆ ต้องมีทีมที่มีเวลา มีความหลงใหลกับสิ่งที่ทำ เรื่องการหาทีมต้องเรียกว่า “หาให้พบ” หากพบแล้วขอแนะนำให้ลองทำงานด้วยกันภายใต้กรอบที่ชัดเจน เพื่อว่าจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง ท้ายที่สุดหากไม่ใช่ ต้องรีบบอกแล้วหาคนใหม่

จากประสบการณ์การนำสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการประกวดต่างๆ จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น โชคดีที่ยุคนี้มีเงินลงทุนรออยู่จำนวนมาก หากมีโมเดล คอนเนคชั่น หรือ เน็ตเวิร์คที่ดีอยู่แล้วย่อมสามารถหาเงินมาลงทุนได้ไม่ยาก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายที่ต้องคิด ต้องไปให้ถึง พร้อมสเกลธุรกิจตนเองให้ได้คือ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ