อนาคตยูโรและยุโรป (4)

อนาคตยูโรและยุโรป (4)

อิตาลีเป็นอีกประเทศหนึ่งในกลุ่มยุโรปใต้ที่เผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะมองจากวิกฤตที่ประเทศนี้เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

หรือมองจากขีดความสามารถของประเทศในระยะยาวที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จนมาอยู่ในระดับที่เป็นหนึ่งในแนวหน้าของโลก แน่นอนว่าเสน่ห์และความตระการตาตระการใจของอิตาลียังคงฝังใจแก่ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวไม่ได้เลือนหายไป แม้ว่า เศรษฐกิจของอิตาลีจะอยู่ในช่วงขาลงมานานพอสมควร จริงๆ ก่อนวิกฤตที่เริ่มกระหน่ำยุโรปในปี 2009 แต่ขนาดเศรษฐกิจของอิตาลีก็ยังอยู่ในระดับประมาณที่แปดของโลก มีช่วงหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน อิตาลีทำท่าจะไล่กวดแซงขึ้นหน้าอังกฤษด้วยซ้ำไป

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีอยู่ในช่วงถดถอย เสื่อมถอย จริงๆแล้วเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ พลวัตที่เคยมีก่อนหน้าทำไมจู่ๆ หายไป ในทางศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น การกีฬา ภาพยนตร์ รวมทั้งเสน่ห์ในการเป็นประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะยุโรปไม่ได้หายไป แต่หลายอย่างก็ส่ออาการถดถอย อิตาลีต้องการการเปลี่ยนแปลงปรับตัว โดยเฉพาะความสามารถในการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆที่เคยเป็นจุดเด่นของอิตาลีมาโดยตลอด

 เราต้องยอมรับว่าสินค้าวัฒนธรรมอย่างเดียว หรือรวมทั้ง soft power ซึ่งอิตาลีมีแม้จะไม่แพ้ใคร แต่ก็คงไม่พอที่จะทำให้คนอิตาลีมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ยังไงๆเศรษฐกิจก็ยังเป็นของจริง โดยเฉพาะเมื่อเราตระหนักว่าเศรษฐกิจของอิตาลีมีปัญหาที่เป็นลักษณะพิเศษ มากกว่าคนอื่น เช่น แต่ไหนแต่ไรมาเศรษฐกิจอิตาลีไม่เคยอยู่ในสภาพที่มีการจ้างงานเต็มที่เหมือนใครๆ แม้กระทั่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่อยู่ในช่วงขาลงระยะยาว

เมื่อมองในเชิงสถาบันอิตาลีมีอะไรที่คล้ายๆกรีซ ทั้งสองประเทศนี้กว่าจะสามารถรวมตัวกันเป็นชาติ ก็เข้าสู่เกือบจะปลายศตวรรษที่ 19 คล้ายเยอรมัน แต่ต่างกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างเทียบกันไม่ได้ กรีซกว่าจะได้เอกราชก็ต้องให้มีต่างชาติคืออังกฤษและฝรั่งเศส อิตาลีก็เป็นเช่นนี้มาตลอดแม้กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออิตาลีเริ่มระบบสาธารณรัฐเป็นครั้งแรก แม้ขบวนการของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์โดยเปรียบเทียบค่อนข้างจะแข็งแกร่งในอิตาลีแต่ในที่สุด อเมริกาก็ยังครองอำนาจนำในยุโรป ที่ทำให้รัฐบาล หรือประชาธิปไตยของอิตาลีเติบโตขึ้นโดยไม่ให้มีพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมเป็นรัฐบาล 

ในกรณีของอิตาลีเนื่องจากระดับการพัฒนาที่ยังล้าหลังอเมริกา และยุโรปเหนือ เมื่อบวกกับการที่ศาสนาคาทอลิก ฝังรากอยู่กับคนอิตาลีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ จะว่าเป็นรากเหง้าก็ได้ ของการที่อิตาลี ไม่สามารถ จะสร้างหรือมีรัฐสมัยใหม่ที่มีคุณภาพ เมื่ออิตาลีกำลังจะเข้าสู่เส้นทางยุคแห่งความทันสมัย ทุนนิยมอาจเติบโตได้ระบบการเมืองที่หลากหลาย เหมือนที่เราได้เคยเห็นความเจริญรุ่งเรืองของทุนนิยมเชิงพาณิชย์ในเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์อิตาลี เช่น ฟลอเรนซ์ เจนัวร์ เวนิซ เป็นต้นในศตวรรษที่ 16 แต่ไม่ใช่กรณีของประชาธิปไตยที่อิตาลีหรือกรีซ เมื่อเลือกที่จะเดินเส้นทางนี้ แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาที่หนักหนาสากรรจ์ในเวลาต่อมา(เช่น การขาดฉันทานุมัติในชาติหรือสังคม การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ขบวนการมาเฟีย คอร์รัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ หลักนิติธรรมบกพร่อง นโยบายประชานิยม ระบบการคลังและรัฐสวัสดิการที่ไม่สมเหตุผล ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐ และระบบราชการซึ่งจริงๆก็ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น) 

จากการที่ทั้งสองประเทศ มีกระบวนการประชาธิปไตยก่อนที่จะมีรัฐสมัยใหม่และหลักนิติธรรม ประสพการณ์ของทั้งสองประเทศนี้จึงต่างกันค่อนมากจากประสพการณ์หรือเส้นทางการพัฒนาการเมืองของปรัสเซีย อังกฤษและฝรั่งเศส ไม่น่าแปลกใจที่กรีซหรืออิตาลี เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แม้กระทั่งจนถึงวันนี เป็นประเทศที่มีรัฐที่ค่อนข้างอ่อนแอ มีสถาบันหลายอย่างโดยเฉพาะเมื่อ 10 -20 ปีก่อนหน้าที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยไม่ปกติ เหมือนสมาชิกอื่นๆในยุโรปเหนือ ทั้งๆที่ระดับรายได้ เศรษฐกิจและความมั่งคั่งเริ่มไม่ต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม แม้นี่จะเป็นภาพด้านลบหรือด้านมืดของอิตาลี เราอาจจะตั้งคำถามว่าแล้วทั้งหมดนี้มันเป็นอุปสรรคหรือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอิตาลีชะงักงัน เสื่อมถอยเป็นเวลาที่ค่อนข้างยาวนานใช่หรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Acemoglu และคณะ เชื่อว่าปัจจัยทางสถาบัน มีบทบาทในระยะยาวอย่างมากในกำหนดความเจริญเติบโตความก้าวหน้าอย่างมากในระยะยาวสถาบันทำงานในบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละประเทศ 

ในกรณีของอิตาลีผู้เขียนคิดว่า การที่อิตาลีรวมชาติช้าและตามหลังอเมริกา อังกฤษ และบางประเทศในยุโรปเหนือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ในขณะที่คุณภาพของรัฐและสถาบันอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าในความเป็นจริง ไม่ได้ทำให้อิตาลีเติบโตไม่ได้ อิตาลีก็คล้ายๆหลายๆประเทศเช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซียและญี่ปุ่น ที่มาทีหลัง อังกฤษ อเมริกา ได้ใช้รัฐเป็นกลไกทดแทน เอกชนมีความแข็งแกร่ง มีความคิดสร้างสรรค์ และสำหรับอิตาลีเริ่มเห็นผลในการเข้าสู่อุตสาหกรรม หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีสามารถไล่กวดอังกฤษ ได้ทันเมื่อเข้าสู่กลางทศวรรษ 1970 ในปี 1870 สิบปีหลังจากการรวมชาติ ระดับรายได้และผลิตภาพของแรงงาน ของอิตาลีอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 37 ของอังกฤษที่ 100 (ประมาณร้อยละ 45 กรณีภาคอุตสาหกรรม) ตัวเลขนี้กลายมาเป็น 102 ในปี 1973และแซงหน้าอังกฤษไปได้ในปีค.ศ. 1993 มาอยู่ที่ 106 และลดมาอยู่ที่ 89ในปีค.ศ 2007 (เทียบกับญี่ปุ่น ที่ 85) เมื่ออิตาลีโตไม่ได้ ในภาคอุตสาหกรรม ระดับผลิตภาพแรงงาน แซงหน้าอังกฤษ มาอยู่ที่ 117.4 ในปี 1973 ลดลงมาอยู่ที่ 102.2 ในปี 2007 

ถ้าดูจากภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ดูเหมือนอิตาลียังพอไปได้ แต่ภาพนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อ มาดูภาคบริการ ซึ่งเติบโตใหญ่ขึ้นมาก แต่ระดับผลิตภาพและการเติบโตต่ำโดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ในยุคทอง(ประมาณ 20 ปี 1951-1973)ของอิตาลีเหมือนกับยุคทองของญี่ปุ่นหรือเยอรมัน (ทั้งสามประเทศนี้ เป็นฝ่ายอักษะและแพ้สงคราม) รายได้ต่อหัวของอิตาลีโตในอัตราที่สูงกว่าอังกฤษ กว่า 2 เท่าตัว (อิตาลี 5.1 % เยอรมัน 4.8 % ญี่ปุ่น 8.0 % อังกฤษ 2.4 %)

ความเจริญเติบโตของรายได้ต่อหัวในอัตราที่สูงที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อเนื่องได้ประมาณสองทศวรรษ ได้เปลี่ยนสถานะของประเทศในจำนวนที่ไม่มาก โดยกลุ่มประเทศยุโรปไล่กวดอังกฤษและอเมริกา และต่อมา ไม่กี่ประเทศในเอเชีย ความเหมือนกันในกระบวนการไล่กวดนี้ ที่เป็นไปได้ เป็นเพราะประเทศที่มาทีหลังสามารถรับโอนถ่ายตักตวงความรู้และเทคโนโลยีที่มีมาก่อนหน้าโดยที่ประเทศที่มาทีหลัง ยังมีโครงสร้างการผลิตที่ห่างไกลจากประเทศที่เจริญมาก่อนหน้า เมื่อบวกกับการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากเกษตรเป็นอุตสาหกรรม จะทำให้ผลิตภาพแรงงานและผลิตภาพโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าประเทศที่เจริญมาก่อนหน้า

ความต่อเนื่องและอัตราความเจริญเติบโตนี้ จะทำได้ต่อเนื่องยาวนานแค่ไหนหลังจากไล่กวดทัน ในกรณีของเยอรมัน อิตาลีและญี่ปุ่น สิบกว่าปีที่ผ่านมาทั้งสามประเทศนี้ ในบริบทที่ต่างกันล้วนเผชิญกับภาวะชะงักงัน มาแล้วทั้งสิ้น