พลิกกฎองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ตอนที่ 3)

พลิกกฎองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ตอนที่ 3)

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ไม่เพียงแต่แก้ไขอำนาจของ กสทช. เดิม แต่ยังได้แก้ไของค์ประกอบของ กสทช.

ด้วย ผู้อ่านคงจะพอจำได้ว่า กสทช. นั้น เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งทางด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (broadcast) และทางด้านกิจการโทรคมนาคม (telecommunication) ด้วย และตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เดิมก็ได้มีการแบ่ง กสทช. ออกเป็น 2 คณะคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กับ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) หลังจากที่เราได้คุ้นเคยกับ กสท. และ กทค. มาร่วม 7 ปี 

ต่อจากนี้ไปภายใต้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ จะไม่มีการแบ่งแยก กสทช. ออกเป็น 2 คณะกรรมการอย่างที่เคยเป็นแล้วโดยกฎหมายใหม่ได้ยกเลิกมาตรา 35 ถึงมาตรา 40 เกี่ยวกับ กสท. และ กทค. ทั้งหมด โดยผู้ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลทั้ง 2 กิจการก็จะสวมหมวกใบเดียวกันในตำแหน่ง กสทช. เท่านั้น ทั้งนี้ กสทช. ยังคงมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ กสทช. มอบหมายตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ โดยจะต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.

ประเด็นการแก้ไขที่น่าสนใจประเด็นต่อมาคือ เรื่องการได้มาซึ่งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

กฎหมายใหม่บัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยบัญญัติว่ากรณีที่ไม่ได้ใช้เพื่อประกอบกิจการธุรกิจ ให้ใช้วิธีการคัดเลือก แต่หากใช้เพื่อประกอบกิจการธุรกิจก็ให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูล ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด เมื่อ กสทช. ได้อนุญาตให้ผู้ใดใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แล้ว กสทช. ก็จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบด้วย

ส่วนการได้มาซึ่งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น กฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ โดยระบุเพิ่มเติมว่าวิธีการประมูลนั้นอาจไม่นำมาใช้ในบางกรณี คือ กรณีที่คลื่นความถี่นั้นเป็นคลื่นความถี่ที่มีเพียงพอต่อการใช้งานหรือนำไปใช้กิจการบางประเภทที่ไม่แสวงหากำไรตามที่ กสทช. กำหนดไว้ล่วงหน้า

เงินที่ได้จากการคัดเลือกเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและเงินที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เหลือเท่าใด กสทช. ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านคงพอจะเห็นว่า กสทช. กับคณะกรรมการดิจิทัลฯ จะมีความเชื่อมโยงและมีการประสานงานกันค่อนข้างมากในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของ กสทช. ซึ่งนอกจากประเด็นที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว กฎหมายใหม่ยังได้บัญญัติเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในการทำหน้าที่ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคมนั้น กสทช. อาจมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ เป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้

นอกจากนี้ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กสทช. ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาและต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการของ กสทช. สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ กฎหมายใหม่บัญญัติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด โดยคณะกรรมการดิจิทัลฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อเสนอแนะต่อคณะกรรมการดิจิทัลฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะกรรมการดิจิทัลฯ คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กสทช. จำนวนเท่าๆ กัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดิจิทัลฯ เป็นที่สุด

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้สำหรับบทความฉบับนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงนิยามของคลื่นความถี่ที่ไม่ได้เป็นเพียง ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะอีกต่อไป แต่เป็น สมบัติของชาติ อันสะท้อนให้เห็นความสำคัญและมูลค่าของคลื่นความถี่ที่ กสทช. ชุดใหม่และคณะกรรมการดิจิทัลฯ จะต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

 ******

วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]