นโยบายการเงินก.ย.ส่งผลตลาด

นโยบายการเงินก.ย.ส่งผลตลาด

นโยบายการเงินก.ย.ส่งผลตลาด

เดือนกันยายนนี้เป็นเดือนที่มีการประชุมนโยบายการเงินสำคัญๆ ซึ่งตลาดติดตามและมีผลต่อมุมมองการลงทุนค่อนข้างมาก ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่นตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดพันธบัตร รวมทั้ง อัตราแลกเปลี่ยน โดย 4 เหตุการณ์ดังกล่าวที่ผู้ลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิดในเดือนนี้ ได้แก่

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลาง (ECB)ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ก.ย. ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์เกี่ยวกับท่าทีการส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินในหลายแง่มุม ในแต่ในมุมองของบลจ.วรรณ ยังเชื่อว่าภายหลังการประชุมวันที่ 7 ก.ย. นี้ ECB จะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ระดับเดิม แต่ยังต้องจับตาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินระยะถัดจากนี้ ซึ่งหากต่ออายุมาตรการ QE จากปัจจุบัน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งจะสิ้นสุดปลายปีนี้ โดยคาดว่า จะเป็นการต่ออายุในช่วง 6 เดือนแรกของปี โดยลดอัตราเข้าซื้อเป็น 4 หมื่นล้าน ต่อ เดือน หากเป็นดังคาดจะทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเงินยูโรที่แข็งค่าแตะที่ระดับประมาณ 12% หลังนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB มีมุมมองเศรษฐกิจดี แต่ย้ำถึงความจำเป็นของการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เนื่องจากเงินเฟ้อยังยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ในวันที่ 24 ก.ย. จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ของเยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจหลักของยูโรโซน ถึงแม้ว่าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล ยังคง มีคะแนนความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ถือว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากนโยบายเปิดรับผู้อพยพของรัฐบาล สร้างความไม่พอใจ อีกทั้งคะแนนเสียงของพรรค CDU/CSU นั้น ยังคงไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลเดี่ยว ซึ่งทำให้ต้องหาพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพรรครัฐบาล อย่างไรก็ดี หาก CDU แพ้การเลือกตั้งสมัยที่ 4 ผมมองว่า สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้งครับ

การประชุมนโยบายการเงินของการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 19-20 ก.ย.ที่มีความสำคัญในแง่ที่ว่า ข้อมูลตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot plot) รวมไปถึงการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายสำนักมีความเห็นว่า Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญของเฟดในการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy normalization) และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นและผลักดันเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การเผชิญกับเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งจะมีการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2561 (ต.ค. 60-ก.ย. 61) และร่างกฎหมายยกระดับเพดานหนี้สาธารณะ (Debt ceiling) ของสหรัฐฯ โดยฟากรัฐบาลสหรัฐฯจะออกกฎหมาย “ขยายเพดาน” ก่อหนี้ให้ทันก่อนปีงบประมาณปัจจุบันสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. แต่หากการประชุมสภาคองเกรสในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงเรื่องงบประมาณและการปรับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า และเป็นอีกปัจจัยหนุนราคาทองคำ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่า เดือนกันยายนนี้อาจเผชิญความผันผวนต่อเนื่องเป็นระยะ ความกังวลส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ที่สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดยุโรปยังคงน่าสนใจ แม้ว่าจะต้องลุ้นเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกอย่างเยอรมนี แต่หากวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ ถือว่า ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้ การจัดสรรเงินบางส่วนในพอร์ต เพื่อถือครองทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจะสิ่งที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุนไม่ให้เสียโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่ภาคนโยบายการเงินเริ่มไม่ชัดเจน อีกทั้งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ตึงเครียดว่าจะขยายวงกว้างหรือไม่จากเหตุการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีกรณีทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ