ทางสายกลางระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

ทางสายกลางระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

ในยุคที่ออนไลน์ครองเมือง หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเราเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์มากขึ้นทุกที ทั้งการซื้อของ การทำธุรกรรมทางการเงิน การสื่อสาร

การหาคู่ การจีบกัน หรือแม้กระทั่งการบอกรัก ก็ไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ดีในทางกลับกันกลับมีแนวคิดหนึ่งที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการออฟไลน์มากขึ้น รวมทั้งความพยายามในการผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

ถ้าในเชิงกลยุทธ์การแข่งขันนั้น เราจะเริ่มเห็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกทั้ง Amazon หรือ Alibaba ที่สร้างธุรกิจมาด้วยการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ ปรับตัวโดยนำข้อได้เปรียบที่ได้จากการอยู่บนโลกออนไลน์ หันมาสร้างธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น (Online-Offline Integration) 

กรณีของ Alibaba ก็คือการเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ตใหม่ภายใต้ชื่อ Hema ที่เป็นอีกหนึ่งความพยายามของ Alibaba ในการปฏิวัติวงการค้าปลีก โดยการเชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อของผ่าน Hema ได้ทั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือ มาซื้อด้วยตนเอง อีกทั้งการจ่ายเงินก็ใช้ผ่านระบบ Alipay สินค้าทุกตัวยังมีบาร์โค๊ดให้ลูกค้าสามารถเข้าไปดูที่มาและข้อมูลของสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ Hema ยังใช้ Data Analytics ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าและให้ข้อแนะนำกับลูกค้าในการซื้อสินค้าเป็นรายบุคคล

ส่วนกรณีของ Amazon นั้นนอกเหนือจากการเปิดร้านหนังสือที่นำข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อและอ่านหนังสือ ที่ Amazon ได้สะสมไว้เป็นสิบๆ ปี มาออกแบบและเปิดร้านหนังสือของตนเองแล้ว ล่าสุดอีกหนึ่งความพยายามของ Amazon ในการเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ คือ บริการ Amazon Wardrobe ที่มีให้บริการสำหรับสมาชิกของ Amazon โดยเมื่อลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อเสื้อผ้าจาก Amazon Fashion แล้ว ทาง Amazon จะส่งเสื้อผ้ามาให้ลูกค้าลองที่บ้านฟรี เป็นเวลา 7 วัน ถ้าลูกค้าชอบเสื้อผ้าชิ้นไหนก็เก็บไว้ (และจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต) ส่วนตัวที่ไม่ชอบก็ใส่กล่องกลับคืนให้กับ Amazon โดยค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งหมดทาง Amazon รับผิดชอบให้เอง ลูกค้าเพียงแค่รอรับเสื้อผ้าและลองใส่อยู่กับบ้านเท่านั้นเอง

กรณีของ Alibaba และ Amazon เป็นตัวอย่างในเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจค้าปลีกที่พยายามเชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ โดยทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกของการซื้อของออนไลน์ แต่ได้รับประสบการณ์ของการซื้อของออฟไลน์ (Convenience of online, Experience of offline) ซึ่งนอกเหนือจากในเชิงกลยุทธ์ธุรกิจแล้ว การผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ในเชิงปัจเจกบุคคลก็เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มที่จะทำให้คนหันมาออฟไลน์มากขึ้น แทนที่จะอยู่แต่ในโลกออนไลน์เหมือนในปัจจุบัน

ในงานสัมมนา TED2017 เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอจากนักวิชาการที่เป็นผู้พูดหลายคนที่เสนอออกมาในทิศทางเดียวกันถึงประโยชน์ของออฟไลน์ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การพบปะ พูดคุย หรือ มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแบบเจอหน้ากันจะช่วยทำให้คนเรามีอายุยืนข้ึนกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านทางระบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการสบตาผู้อื่น การทักทายด้วยการเช็คแฮนด์ จะช่วยลดความเครียดในร่างกายและทำให้ร่างกายหลั่งสารความสุขเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีผู้พูดอีกท่านในงาน TED2017 ที่เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยที่พบว่าคนที่ใช้เวลาในโลกออนไลน์เยอะๆ ไม่ว่าผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือ อ่านข่าวออนไลน์ จะมีความสุขน้อยกว่าการอยู่ในโลกออฟไลน์ เนื่องจากการอยู่ในโลกออฟไลน์ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือ การดูหนัง ล้วนแล้วแต่มีจุดจบ หรือ จุดสิ้นสุด แต่การอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดเวลา ไม่มีจุดหยุด หรือ จุดสิ้นสุด เราสามารถใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ กับโทรศัพท์มือถือโดยไม่รู้ว่าจะหยุดหรือจบสิ้นเมื่อใด และการมีจุดหยุดหรือจุดสิ้นสุดในการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นจะทำให้เรามีเป้าหมายและความสุขขึ้น

สรุปก็กลับไปที่หลักการของพระพุทธศาสนานะครับ ที่ต้องเดินสายกลาง โดยคราวนี้เป็นการเดินสายกลางระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ทั้งในมุมมองกลยุทธ์ธุรกิจและมุมมองการใช้ชีวิตประจำวัน