ความผิดพลาดของ “บัตรคนจน”

ความผิดพลาดของ “บัตรคนจน”

จากการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการประชารัฐสวัสดิการการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน”

 ให้กับผู้ลงทะเบียนคนจนไว้กับกระทรวงการคลังกว่า 11.67 ล้านคน นั้น พบข้อผิดพลาดที่สังเกตได้ดังนี้

  1. นิยามคนจนมีปัญหาทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนในโครงการไม่ได้เป็นคนจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงทั้งหมด ตามนิยามที่ถูกต้องและใช้เส้นความยากจนประจำชาติมาเป็นเกณฑ์นั้น คนจนในประเทศไทย คือ คนที่มีรายจ่าย (ไม่ใช่รายได้) น้อยกว่า 2,644 บาทต่อเดือน หรือ 31,728 บาทต่อปี ซึ่งตัวเลขจากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบคนจนกว่า 4.85 ล้านคน ลดลงเกือบ 10 ล้านคนในระยะเวลา 10 ปี 

อย่างไรก็ตาม จากคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนนั้น อนุญาตคนให้ว่างงาน หรือมีรายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 100,000 บาท มาลงทะเบียนได้ ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะคนว่างงานไม่ใช่คนจน แต่คือคนที่พร้อมจะทำงานยังแต่หางานทำไม่ได้ อาจจะกำลังจิบสตาร์บัครอสัมภาษณ์ในบริษัทย่านสาธร จบป.เอกหรือโทก็ว่างงานได้ แต่พวกเขาไม่ใช่คนจน จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนลงทะเบียนถึงมากเกือบ 12 ล้านคน ทั้งๆ ที่คนจนจริงๆ ในประเทศมีแค่ 4.85 ล้านคน 

กลุ่มเป้าหมายของนโยบายนี้จึงไม่ถูกต้อง สำหรับแนวคิดที่ว่า ดร. ที่ลงทะเบียนไม่ถูกตัดสิทธิ์เพราะมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะเส้นความยากจนวัดด้วยรายจ่าย มิใช่รายได้ ถ้าดร.ว่างงาน แน่นอนว่าไม่มีเงินเดือน แต่มีเงินส่วนอื่น เช่น จากพ่อแม่ หรือเก็บเงิน ซึ่งนำไปใช้จ่ายได้ คนกลุ่มนี้จึงควรตัดออก คนที่มีรายจ่ายน้อยกว่าวันละ 89 บาทต่อวัน ไม่ใช่ลักษณะของคนที่เรียนจบปริญญาโท-เอก

  1. คนจนลงทะเบียนทุกคนหรือไม่ จากการเปิดรับลงทะเบียน ทำให้เกิดปัญหาหนึ่งคือ คนที่จนจริงๆ อาจไม่ทราบนโยบาย ไม่มีโทรทัศน์ดู ไม่มีวิทยุฟัง หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน หรืออาจอยู่ห่างไกลจนทำให้มาลงทะเบียนที่ธนาคารไม่ได้ นั่นเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการของคนจนย่อมไม่เท่าเทียมกับ ดร. ที่มาลงทะเบียน ทำให้เกิดการตกหล่นในกลุ่มคนจน

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านน่าจะรู้ดีว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมาได้มีการไปหาคนจนในท้องถิ่นตนเองหรือไม่ รัฐควรมีการสำรวจเพิ่มเติมว่า มีคนจนอีกมากน้อยเพียงใดที่ไม่ได้มาลงทะเบียน มิใช่ถือว่า หากไม่ลงทะเบียนคือไม่อยากได้รับสิทธิ์ เชื่อว่าคนจนทุกคนย่อมต้องการสวัสดิการดังกล่าว แต่เหตุผลและความจำเป็นบางอย่างอาจทำให้ไม่สามารถมาลงทะเบียนได้

  1. สวัสดิการที่ให้ตอบสนองชีวิตคนจนในเมืองมากกว่าคนจนในชนบทในต่างจังหวัดไม่มีรถเมล์และรถไฟฟ้า คนจนในถิ่นทุรกันดารจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ซึ่งมีมูลค่า 500 บาทต่อเดือน แน่นอน รวมไปถึงค่าโดยสารรถไฟ และรถ บขส. เพราะคนจนไม่ได้เดินทางทุกเดือน หากทำงานไกลบ้านเกิด การใช้สิทธินี้ก็อาจจะเกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น
  2. มีการกำหนดให้คนถือบัตรจะต้องใช้เงินในบัตรให้หมด หากไม่หมดจะถูกตัดเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบิดเบือนพฤติกรรมการบริโภคที่เกินความจำเป็น ไม่ส่งเสริมลักษณะนิสัยการออมอันเป็นนิสัยพื้นฐานพึงมีที่จะทำให้หลุดพ้นกับดักความยากจน เงินที่เหลือในบัตรอาจถูกใช้ไปกับสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น เหล้า บุหรี่ รวมถึงการพนัน คนจนเป็นกลุ่มคนที่มีเงินออมต่ำ เมื่อตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉินเช่นเจ็บป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล จะพบว่าไม่มีเงินมากพอที่จะเข้ารับรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เงินที่เหลือในบัตรควรให้สะสมได้ อาจกำหนดให้ใช้ได้ในสถานการณ์จำเป็นบางอย่าง เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต ซึ่งคนจนจะรับมือได้ยากกว่าคนรวย
  3. แม้การช่วยเหลือจะไม่รวมค่าไฟฟ้าและประปา แต่การให้เงินสดเดือนละ 300 ก็ไม่ต่างอะไรกับการสนับสนุน เพราะคนจนสามารถนำไปทำอะไรก็ได้ อาจไม่ได้ซื้อยารักษาโรคที่ดีขึ้น ไม่ได้ซื้อหมู เห็ด เป็ด ไก่ บริโภคให้ได้สารอาหารดีๆ แต่กลับเอาไปจ่ายค่าไฟเพราะให้ลูกดูทีวีได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นนโยบายที่ช่วยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. เหตุใดจึงให้สวัสดิการในลักษณะบุญหล่นทับต่อเนื่องยาวนานถึง 1 ปีควรมีการติดตามคนจนว่า เมื่อใดก็ตามที่พวกเขามีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ (ที่นิยามไว้ผิดๆ) ก็ควรจะระงับการให้สิทธิการให้สวัสดิการเพื่อเป็นการนำทรัพยากรไปให้กับกลุ่มคนที่ต้องการมากกว่า บางคนอาจจะกลัวว่า หากตัดสิทธิ คนจนจะไม่ทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนจนก็เหมือนคนทั่วไป เมื่อมีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า มีหนทางที่จะมีรายได้ที่มั่นคงย่อมเลือกทางเลือกอยู่แล้ว บัตรคนจนไม่ได้มีสิทธิประโยชน์มากพอที่จะทำให้คนจนอยากตกอยู่ในสภาวะได้รับเบี้ยคนจนแบบนี้ไปตลอดนอกจากนั้น ควรมีการติดตามด้วยว่า คนจนใช้เงิน 300 บาทนี้ไปทำอะไร เพื่อในอนาคตจะได้นำไปวางแผนนโยบายที่ตรงจุดมากขึ้น แทนที่จะแจกเงินแบบไม่มีเงื่อนไขให้ทำงาน
  5. นอกจากจะให้เงินแล้วควรพัฒนาทักษะและความรู้ของคนจนด้วยคนจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เหมือนอย่างคนทั่วไป การให้เงินอาจช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง เมื่อรัฐทราบแล้วว่าใครคือคนจน ก็ควรจะมีโครงการพัฒนาทักษะในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย

โดยสรุป “บัตรคนจน” ก็ถือเป็นนโยบายที่มุ่งเพิ่มความกินดีอยู่ดีให้กับกลุ่มคนจน โดยเนื้อหาก็เห็นด้วย แต่พบว่ามีการวางกลุ่มเป้าหมายผิด ทำให้คนที่อยู่ในโครงการไม่ใช่คนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ในปีถัดไป เราควรตั้งคำถามว่า จะออกแบบ “บัตรคนจน” อย่างไรที่จะไปเพิ่มแรงจูงใจให้คนจนอยากที่จะทำงาน รวมไปถึงประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรให้จำนวนผู้ได้รับสิทธิลดน้อยลงในปีหน้า

 ******

โดย

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

PhD Candidate, Australian National University