เอฟบีไอโชว์จับแฮกเกอร์ปล่อยมัลแวร์“ซากุล่า”

เอฟบีไอโชว์จับแฮกเกอร์ปล่อยมัลแวร์“ซากุล่า”

ทุกวันนี้ต้องผจญกับภัยร้ายบนโลกไซเบอร์ตลอดเวลา และนับวันยิ่งยากที่จะตรวจสอบและจัดการมากขึ้น

เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์มีการพัฒนา คิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ มาโจมตีอย่างไม่หยุดยั้ง 

ที่สำคัญ คือ อายุของอาชญากรเหล่านั้นน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องด้วยประสบการณ์ไม่จำเป็น เพราะเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือชั้นยอด ขณะเดียวกันการขายต่อเครื่องมือจากเหล่าแฮกเกอร์รุ่นพี่มีจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนอาชญากรพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกระจายตัวไปทั่วโลก

ประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายใหญ่หนีไม่พ้นสหรัฐ ไม่นานมานี้เอฟบีไอ( FBI) ได้จับกุมชาวจีนนามว่า ยู ปิงอาน (Yu Pingan) อายุ 36 ปี ข้อหาปล่อยมัลแวร์ที่ชื่อว่า ซากุล่า (Sakula) ซึ่งถูกใช้ในการละเมิดข้อมูลหรือขโมยข้อมูลส่วนตัวของพนักงานรัฐบาลสหรัฐจากสำนักจัดการบุคคลากร (The U.S. Office of Personnel Management หรือ OPM) ในปี 2558 โดยมีข้อมูลส่วนตัวของพนักงานรัฐบาลสหรัฐโดนขโมยไปถึง 25 ล้านคน รวมไปถึงรอยนิ้วมือของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอีก 5.6 ล้านคน โดยซากุล่าเป็นโทรจัน (Trojan) ประเภทที่สามารถเจาะเข้าระบบได้จากทางไกล หรือเรียกว่า Remote Access Trojan (RAT)

นายยู ปิงอาน ถูกจับกุมที่สนามบินลอสแองเจลิส เมื่อเขาเดินทางถึงประเทศสหรัฐเพื่อเข้าร่วมการประชุม นอกจากข้อกล่าวหาในเรื่องการโจมตีสำนักจัดการบุคคลากรดังกล่าว ยังโจมตีและขโมยข้อมูลของบริษัทประกันสุขภาพ Anthem ในปีเดียวกััน โดยบริษัทได้สูญเสียข้อมูลบันทึกทางการแพทย์ลูกค้าไปถึง 80 ล้านคน ทางการพบด้วยว่า นายยู ปิงอานร่วมมือกับอีกสองคน นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐบาลยังโจมตีบริษัทในอเมริกาอีกอย่างน้อย 4 บริษัท ระหว่างช่วงเดือนเม.ย.2554 จนถึง ม.ค.2557

นอกจากนั้นหน่วยงานสหรัฐจับกุมนาย มาร์คัส อัสชิน อาชีพนักวิจัยด้านความปลอดภัยชาวอังกฤษ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้สร้างและแพร่กระจาย แบงกิ้งโทรจัน ที่ชื่อว่า โครโนส (Kronos) ในระหว่างปี 2557 ถึง 2558 นอกจากสองคนดังกล่าว หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ยังสืบเสาะและทำการตรวจจับแฮกเกอร์มาหลายรายที่ก่อวีรกรรมสุดแสบ ไม่ว่าจะเป็นนาย โจนาธาน เจมส์ แฮกเกอร์อายุ 15 ปี ที่เจาะระบบบริษัทโทรศัพท์ BellSouth และการสร้างแบ็กดอร์ในระบบองค์กรน่าซ่าและทำให้สูญเสียเงินไปถึง 41,000 ดอลลาร์

หรือ เควิน มิทนิค ได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรทางคอมพิวเตอร์ที่ทางสหรัฐต้องการตัวมากที่สุด สำหรับวีรกรรมแฮกหน่วยงานรัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ต่างๆ รวมถึงหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หรือว่า เควิน พูลเซ่น ที่เจาะระบบฐานข้อมูลของเอฟบีไอ

เห็นได้ว่าถึงแม้ว่าแฮกเกอร์เหล่านั้นจะเก่งขนาดไหนก็หนีไม่พ้นการจับกุม เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันไม่ได้เอื้ออำนวยประโยชน์แค่กับแฮกเกอร์เท่านั้น หน่วยงานรัฐทั้งหลายต่างใช้เทคโนโลยีเพื่อสืบเสาะถึงแฮกเกอร์เหล่านั้นได้เช่นเดียวกันดังตัวอย่างที่ได้เห็นจากการจับแฮกเกอร์ในตำนานหลายคนที่ผ่านมา ดังนั้นไม่ว่าแฮกเกอร์เหล่านั้นจะเป็นคนชาติไหน แม้แต่คนไทยก็สามารถถูกจับ ไม่ช้าก็เร็ว