“การศึกษาสำหรับนักธุรกิจและอนาคตเอเชีย”

“การศึกษาสำหรับนักธุรกิจและอนาคตเอเชีย”

เดือนที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากนิตยสาร Nikkei Asian Reviewให้เขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับนักธุรกิจหรือBusiness education ของภูมิภาคเอเชีย

โดยเฉพาะหลักสูตรบริหารธุรกิจ ที่ถือเป็นปริญญาที่นักธุรกิจต้องเรียน ซึ่งผมก็ได้เขียนและบทความได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าวฉบับอาทิตย์ที่ 28 ส.ค.และ 3 ก.ย.นี้ รวมถึงในสื่อออนไลน์ของนิตยสาร วันนี้ก็เลยอยากจะเก็บสาระของบทความดังกล่าวมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ สำหรับแฟนคอลัมน์ที่สนใจจะอ่านฉบับเต็มภาษาอังกฤษ สามารถอ่านได้จากสื่อออนไลน์ของนิตยสาร

ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงสุดของโลกช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคงจะเติบโตแบบนี้ต่อไปแม้อัตราจะลดลงบ้าง การเติบโตนี้ทำให้เศรษฐกิจและบริษัทธุรกิจในเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ในปี 2015 สองประเทศในเอเชียคือ ฮ่องกงและสิงคโปร์ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลกในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ปี 2016 สองประเทศในเอเชียคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลกในเรื่องนวัตกรรม ปีนี้จากการจัดอันดับ 500 บริษัทใหญ่สุดของโลกโดยนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) มีบริษัทจากเอเชีย 4 บริษัทติด 5 อันดับแรกคือ บริษัท State Grid Corporation, Sinopec Group และ National Petroleum Corporation ของจีนและบริษัท Toyota Motor ของญี่ปุ่น

ความสำเร็จนี้เป็นผลอย่างสำคัญจากคุณภาพและการเติบโตของแรงงานที่มีการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนถึงความสามารถในการเข้าถึงระบบการศึกษาของคนเอเชียที่สูงขึ้น และคุณภาพการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในเอเชียที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งรวมถึงหลักสูตรบริหารธุรกิจ ล่าสุด มีสถาบันการศึกษาเอเชีย 7 สถาบันด้านธุรกิจหรือ business school ที่ปรากฏชื่ออยู่ใน 30 อันดับแรกของสถาบันศึกษาด้านธุรกิจของโลกที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ ได้แก่ CEIBS หรือ China Europe International Business School, INSEAD, HKUST Business School ที่ฮ่องกง Nanyang Business School และ National University of Singapore Business School ที่สิงคโปร์ และ India Business School และ Indian Institute of Management Ahmedabad ที่อินเดีย

ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากพลวัตสำคัญ 3 ด้าน

  1. คือ อุปสงค์ที่ความต้องการของคนเอเชียต่อการศึกษาที่มีคุณภาพได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลาง เพื่อตอบสนองการเติบโตของเศรษฐกิจและความสลับซับซ้อนของธุรกิจเอเชียที่มีมากขึ้น
  2. นโยบายรัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียที่มุ่งให้สถาบันการศึกษาของตนมีคุณภาพที่สูงเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นผลให้สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจของเอเชียสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลกมาสอนที่เอเชีย พร้อมกับจับมือกับสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลกเพื่อยกระดับหลักสูตรด้านธุรกิจของตนให้เข้าสู่ระดับโลก ล่าสุด สถาบันดังๆ เช่น INSEAD, MIT และมหาวิทยาลัย Stanford ล้วนมีหลักสูตรที่เอเชีย
  3. หลักสูตรบริหารธุรกิจที่มีคุณภาพของสถาบันการศึกษาเอเชียเริ่มเป็นที่ต้องการของนักศึกษาเอเชีย จากที่ภูมิภาคมีการเติบโตและมีโอกาสทางธุรกิจที่ดี ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเรียนในเอเชียก็ต่ำกว่าที่อเมริกาหรือยุโรป และนักเรียนที่เรียนในเอเชียก็จะมีเครือข่ายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะถ้าจะทำธุรกิจในเอเชีย

พลวัตเหล่านี้ทำให้มีนักศึกษาจำนวนมากที่ต้องการจะเรียนต่อในภูมิภาคเอเชียมากกว่าที่จะไปเรียนนอกภูมิภาค ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาจำนวนมากจากนอกภูมิภาคสนใจเข้ามาศึกษาต่อที่เอเชียด้วยเหตุผลเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ที่กรุงเทพ หลักสูตรบริหารธุรกิจเต็มเวลาของมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจาก 30ประเทศ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียเข้ารับการศึกษา

แนวโน้มเหล่านี้คงจะไม่หยุดนิ่ง แต่มีต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความท้าทายที่สำคัญหลายด้านที่จะกระทบทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจเอเชียในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ปัญหาประชากรสูงวัย เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาอากาศที่เปลี่ยนแปลง และทรัพยากรธรรมชาติที่นับวันจะร่อยหรอลง เหล่านี้เป็นประเด็นที่นักการศึกษาเอเชียจะต้องให้ความสนใจเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจและธุรกิจเอเชียสามารถปรับตัวและก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ได้ โดยหลักสูตรการศึกษาต้องสามารถติดอาวุธผู้ประกอบการในเอเชียให้มีความรู้ ทักษะและวิธีคิด (mindset) ที่จะนำพาบริษัทและภาคธุรกิจของเอเชียไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

ในลักษณะนี้ การเรียนการสอนในหลักสูตรธุรกิจในเอเชียยังสามารถปรับปรุงได้โดย

  1. หลักสูตรบริหารธุรกิจในเอเชียควรปรับให้สะท้อนความเป็นจริงของธุรกิจในเอเชียมากขึ้น เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในทุกระดับและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับสังคม เช่น ให้ความสำคัญกับโครงสร้างธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีแพร่หลายในเอเชีย เรื่องกฎหมายและกฎระเบียบของภูมิภาค เรื่องค่านิยม วัฒนธรรมของภูมิภาค และความสำคัญที่บริษัทต้องให้กับเรื่องธรรมาภิบาลและการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ซึ่งถ้าสามารถผสมผสานความรู้และวิชาการของฝั่งตะวันตกกับค่านิยมและความรู้เชิงลึกที่ภูมิภาคเอเชียมี จะทำให้การเรียนการสอนในเอเชียมีพลังมากขึ้น
  2. การเรียนรู้ต้องมีงานวิจัยสนับสนุน ซึ่งหมายถึง การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจเอเชียและปัญหาหรือความท้าทายที่ธุรกิจเอเชียประสบ การวิจัยและกรณีศึกษาที่เกี่ยวกับบริษัทในเอเชียจะทำให้หลักสูตรธุรกิจในเอเชียตรงประเด็นมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาที่ภาคธุรกิจเอเชียประสบ โดยเฉพาะถ้าสามารถเชื่อมต่อได้ระหว่างการศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยและประสบการณ์ธุรกิจจริงของภาคเอกชน
  3. หลักสูตรต้องเน้นให้นักศึกษาในเอเชียคิดเป็นในเชิงวิพากษ์ หรือมี critical thinking เพื่อเพิ่มสมรรถนะและความสามารถให้กับนักศึกษาและนักธุรกิจเอเชียในการแก้ปัญหา ความสามารถนี้จะสำคัญมากต่อการพัฒนาของภูมิภาคในระยะต่อไป การเรียนรู้ที่เน้นการสร้างความสามารถในการคิดเพื่อแก้ปัญหาจะเป็นจุดเด่นของความสำเร็จของระบบการศึกษาในเอเชีย ซึ่งรวมถึงหลักสูตรบริหารธุรกิจที่เปิดสอนในภูมิภาค

ที่ผ่านมาการศึกษาด้านธุรกิจในเอเชียประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ความท้าทายต่อไปก็มีมากเช่นกัน ความสำเร็จในการก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจเอเชียให้ก้าวหน้า แต่หมายถึงอนาคตของภูมิภาคเอเชียที่จะเข้มแข็งขึ้นและดีขึ้น