ต้นทุนของความกลัว

ต้นทุนของความกลัว

ระยะยาว สิ่งที่น่ากลัวของหุ้น ไม่ใช่ผลตอบแทนที่ต่ำ แต่เป็นความผันผวน

เมื่อเย็นวันอังคารที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อ 'วางหมากลงทุนหุ้น ฉบับสามก๊ก' ณ ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก หลายท่านเป็นแฟนเพจ Club VI หลายท่านเป็นแฟนสามก๊ก ก็ขอขอบพระคุณทุกท่านอีกครั้งที่ให้เกียรติไปพบปะพูดคุยกันนะครับ

ในช่วง Q&A วันนั้น มีผู้เข้าฟังหลายท่านถามคำถาม โดยมุ่งไปที่ประเด็น 'การเตรียมตัวรับวิกฤต' หากตลาดหุ้นร่วงวินาศสันตะโรอีกครั้ง

ความห่วงกังวลเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อในเรื่อง 'วิกฤตสิบปีครั้ง' โดยอ้างอิงเหตุการณ์ในอดีต นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ที่มีจุดกำเนิดจากประเทศไทย จนถึงวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 2008 อันส่งผลสะเทือนไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งห่างกันราวๆ สิบปี

พอถึงปีนี้ 2017 หลายคนจึงกลัวว่า เรื่องสยองขวัญแบบเดิมๆ ใกล้จะเกิดขึ้นอีกคำรบหรือไม่?

ในมุมมองของผม สถิติในอดีตไม่ได้บ่งชี้ว่าวิกฤตจะต้องเกิดขึ้นในเร็ววัน มันอาจเกิดขึ้นในหลายปีข้างหน้า หรือไม่เกิดขึ้นอีกนานมากก็เป็นได้

และหนึ่งในคำถามที่ผมเจอก็คือ หากกลัวว่ามันจะเกิด จะจัดสรรเงินอย่างไร คำตอบของผมก็คือ นักลงทุนไม่ควรตีตนไปก่อนไข้ ด้วยการขายหุ้นแล้วถือเงินสดไว้ในสัดส่วนมากๆ เพราะการทำอย่างนั้น หากถึงเวลาแล้วไม่เกิดอะไรรุนแรง (ซึ่งก็มีโอกาสเป็นเช่นนั้นสูง) จะเกิดค่าเสียโอกาสสูงมาก

เคน ฟิชเชอร์ ผู้จัดการกองทุนชื่อดัง เขียนไว้ในหนังสือ Ten Roads to Riches ของเขาว่า คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ ยากมากที่จะจับจังหวะตลาดได้ และหลายครั้งที่สื่อหรือผู้เชี่ยวชาญมักให้ความเห็นทำนองว่าหุ้นจะลงหนัก แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เกิดขึ้น

มีข้อมูลจาก Global Financial Data ระบุด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1926 จนถึง 2016 หากแบ่งเวลาออกเป็นช่วงที่สั้นลง 72 ช่วง ปรากฏว่าหุ้นสามารถเอาชนะพันธบัตรได้ถึง 70 ช่วง! โดยสองช่วงเวลาที่พันธบัตรมีชัยเหนือหุ้นก็ได้แก่ ช่วงที่ครอบคลุมปี 1929 อันเกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ อีกช่วงหนึ่งคือเมื่อทศวรรษที่แล้ว ที่ฟองสบู่ด็อทคอมแตก ตามมาด้วยวิกฤตการเงิน ปี 2008 นอกจากนี้ ในทั้งสองช่วงที่พันธบัตรชนะหุ้น ก็เป็นการชนะอย่างฉิวเฉียด แต่ในเวลาที่หุ้นชนะพันธบัตร กลับชนะขาดลอยไม่เห็นฝุ่น

จะเห็นได้ว่าในระยะยาว สิ่งที่น่ากลัวของหุ้น ไม่ใช่ผลตอบแทนที่ต่ำ แต่เป็น 'ความผันผวน' ของมันต่างหาก หากเรามองข้ามตรงนี้ไปได้ หุ้นก็ไม่มีอะไรน่ากลัว และว่ากันตามจริง ในชีวิตมนุษย์เรา บ่อยครั้งที่ 'ต้นทุนของความกลัว' สูงกว่า 'ความเสียหายจากสิ่งที่กลัว' เสียด้วยซ้ำ นักลงทุนที่ดี จึงควรก้าวพ้นกับดักนี้ไปให้ได้

เผื่อ 'เงินสด' ไว้ได้ไม่ว่ากัน แต่ทรัพย์สินหลักต้องเป็น 'หุ้น' อยู่เสมอในทุกสถานการณ์ นี่คือกุญแจดอกสำคัญที่อยากฝากไว้ครับ