ตรวจความพร้อมกลุ่มนิคมฯ อานิสงส์อีอีซีหนุนลงทุนคึก

ตรวจความพร้อมกลุ่มนิคมฯ อานิสงส์อีอีซีหนุนลงทุนคึก

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.00-14.30 น.

เม็ดเงินต่างชาติดูจะคึกคักมากกว่าช่วงที่ผ่านมา จากการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ล่าสุด (30 ส.ค.2560 ) พลิกกลับมาซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 837.34 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศลงทุนช่วงนั้นหลายคนออกอาการเบื่อๆ ตลาดหุ้นไทยไปเลย เพราะดัชนีกลับทรงตัว หรือจขยับเพิ่มขึ้นได้ไม่ไกลนัก

แต่วันนี้ เชื่อว่าจากนักเศรษฐสตร์ นักวิเคราะห์ ผู้ประกอบการ เริ่มมองเห็นโอกาสที่ต่างชาติจะกลับมาลงทุนในไทยอย่างจริงจังเสียที ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งตลาดหุ้นคงยังเชื่อมั่นไม่ได้เต็มร้อยว่านักลงทุนต่างชาติอยากจะขนเงินมาลงทุนในระยะยาวจริง เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดตระกร้าเงินลงทุน ว่าควรแบ่งไปยังตลาดภูมิภาคใด ในสินทรัพย์ประเภทไหน

ดังนั้น เม็ดเงินระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่ทุกประเทศหวังให้เข้ามาลงทุนมากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการใส่เงินซื้อที่ดินอาคาร โรงงาน สั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิต มีการจ้างงาน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการเติบโตในหลายภาคส่วน ซึ่งนโยบายที่ได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ คือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) กินพื้นที่ใน 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

นโยบายดังกล่าวได้รับการผลักดันให้มีการร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามข่าวจะมีการยื่นเสนอในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในเดือนก.ย.นี้ คาดการณ์ว่ามีการประกาศเป็นกฎหมายในสิ้นปีนี้ และต้นปี 2561 จะมีการจัดประมูลหาเอกชนเข้ามาพัฒนา เพราะรัฐบาลต้องให้มีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง ที่แหลมฉบัง ,มาบตาพุด และสัตหีบ สร้างรถไฟทางคู่เชื่อมการขนส่ง และสนามบินอู่ตะเภา

นอกจากนี้ ยังจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วยใช้มาตรการภาษี ด้วยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีถึง 50 % สำหรับกิจการที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิต รวมไปถึงระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตและบริการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติตื่นตัวสนใจซักถามบจ.ไทย โดยเฉพาะในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ว่ามีพื้นที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาลหรือไม่ และทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ในส่วนนี้

ดังนั้นกลุ่มนิคมฯ ช่วง 2 วันที่ผ่านมาจึงได้รับความสนใจขึ้นมาก เมื่อดูผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ที่เปิดเผยจำนวนที่ดินรอการขายใน 3 จังหวัด ปรากฏว่า อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ตุนที่ดินไว้มากที่สุด 15,000-14,000 ไร่ , ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) 11,000 ไร่ และ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) จำนวน 2,500 ไร่

จำนวนที่ดินทั้งหมดที่กลุ่มนิคมฯ มีไว้ในมือ เป็นราคาต้นทุนที่ยังไม่ได้บวกกับราคาเก็งกำไรในปัจจุบัน หลังมีการดัน EEC ขึ้นมาให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้พอจะคำนวณถึงตัวเลขกำไรขั้นต้นของหุ้นกลุ่มนี้ได้ว่าน่าสนใจมากแค่ไหน

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA) ได้เตรียมที่ดินไว้รอขายให้กับกลุ่มนักลงทุน 1,400 ไร่ เป็นการปรับเป้าจากต้นปีที่ 1,000 ไร่ หลังเห็นสัญญาณบวกชัดเจนว่าครึ่งปีแรกขายที่ดินได้แล้ว 600 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเดิมที่เหมราชซื้อไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ราคาต้นทุนค่าที่ดินของบริษัทเทียบกับราคาที่ดินที่มีการเก็งกำไรนอกนิคมฯค่อนข้างต่ำ ทำให้บริษัทมีมาร์จินค่อนข้างดี

นโยบายบริษัทจะมีการปรับราคาที่ดินทุกปีปีละ 10% อยู่แล้ว ส่วนการปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นหรือไม่ต้องดูลูกค้าได้รับประโยชน์ไปด้วยไม่ใช่แค่บริษัท ดังนั้นหากจะมองเฉพาะราคาที่ดินทำให้รายเดิมที่ตุนที่ดินไว้อยู่แล้วได้เปรียบ หากใครจะมาซื้อตอนนี้คงจะสู้ไม่ไหว

ช่วงนี้มีนักลงทุนเดินสายการมาเยี่ยมชมเพื่อศึกษาลงทุนในนิคมฯ ครึ่งปีแรกมีทั้งกลุ่มยุโรป อเมริกา เอเชีย ยิ่งในกลุ่มหลัง มีญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน และในครึ่งปีหลังทางองค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร มีการจับคู่ธุรกิจ มีนักลงทุนมาเยี่ยมชมนิคมฯ ถึง 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่สนใจเข้ามาลงทุนแน่นอน เพราะรัฐบาลเดินหน้าจริงจัง ใช้สิทธิภาษีเข้ามากระตุ้น จากก่อนหน้านี้ มองประเทศไทยว่าไม่น่าสนใจเท่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงไปมาก

จากภาพดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่าปี 2561 เป็นภาพที่ดีมากๆ สำหรับกลุ่มนิคมฯ เพราะจะมีการตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดิน เช่าโรงงาน และสามารถรับรู้ยอดโอนได้มากที่สุด ทำให้บริษัทมองเป้าหมายยอดขายที่ดินเป็น 2,000 ไร่ เป็นไปได้ ขณะที่การเติบโตในปีนี้ เป้ารายได้คาดไว้ 13,000 ล้านบาท อัตราการทำกำไรเพิ่มขึ้นแน่นอน จากปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ขึ้นมาอยู่ที่ 18-19 %

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมองทุกกลุ่ม แต่จะเน้นไปที่กลุ่มอากาศยานและชิ้นส่วน หุ่นยนต์ และยานยนต์แห่งอนาคต สอดรับกับนโยบายเขตส่งเสริมพิเศษที่จะต้องเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลตามแผน EEC

ด้านอมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) มองเป้ายอดขายที่ดินดีขึ้นแน่นอน มองไว้ที่ 1,000 ไร่ แม้ครึ่งปีแรกขายได้ 170-180 ไร่ เพราะมีต่างชาติติดต่อเข้ามาเพิ่มจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ คาดว่ามาจากความคืบหน้าร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกชัดเจนในปีนี้

จากผลตอบรับของผู้ประกอบการนิคมฯ เหล่านี้ ส่วนใหญ่มองอานิสงส์เชิงบวกจากนโยบายอีอีซีทั้งสิ้น บางรายมองจีดีพีไทยปีหน้า เติบโตถึงระดับ 4.5-6 % ฉะนั้น จากนี้จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการดำเนินการตามนโยบาย ไม่ให้เอกชนผิดหวัง