เราควรกังวลกับข้อมูลคนจนหรือไม่?

เราควรกังวลกับข้อมูลคนจนหรือไม่?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักพาดหัวข่าวเรื่องข้อมูลคนจนโดยเจาะจงไปที่ผู้มีปริญญาโทและเอก น้ำเสียงของการพาดหัวบ่งชี้ไปที่ความประหลาดใจ

 ทั้งนี้เพราะในจำนวนผู้ลงทะเบียนคนจน 14.2 ล้านคน เป็นผู้มีปริญญาตรี 3.5 แสนคน ปริญญาโท 6,000 คนและปริญญาเอก 600 คน ตัวเลขเหล่านี้ชวนให้คิดต่อไปอีกหลายแง่มุม

จากรายงานของสื่อ เราไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเลขของรายได้ที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครมีรายได้น้อยนั้นเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนั้น มีการแยกความแตกต่างทางด้านค่าครองชีพของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างกันอย่างไรหรือไม่ อาทิเช่น ผู้อยู่ในกรุงเทพฯ มักมีค่าครองชีพสูงกว่าผู้อยู่ในชนบท หรือมีการตีค่าสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวชนบทอาจมีแต่ชาวเมืองมักไม่มีอย่างไรหรือไม่ อาทิเช่น ผักและสมุนไพรในสวนครัว หรือผักและผลไม้ที่อาจมีอยู่ในป่าซึ่งชาวชนบทบางกลุ่มเข้าถึง

ใน 14.2 ล้านคนนั้น 2.6 ล้านคนถูกตัดออกไปหลังการตรวจสอบพบว่าไม่อยู่ในเกณฑ์ ตัวเลข 2.6 ล้านคนนี้สูงมาก จึงอาจถามต่อไปว่าเพราะอะไร อาทิเช่น คำอธิบายเรื่องเกณฑ์ของทางราชการไม่กระจ่างพอส่งผลให้เกิดการเข้าใจผิดและเสียเวลามาลงทะเบียน หรือคนจำนวนมากที่เข้าใจแต่จงใจโกงส่งผลให้ต้องเสียงบประมาณตรวจเพิ่ม ถ้าในจำนวนผู้จงใจโกงนี้มีผู้มีปริญญาสูง ๆ รวมอยู่ด้วยยิ่งเป็นสิ่งน่าเศร้า ข้อมูลจำพวกนี้ใช่ไหมที่ทำให้ฝรั่งบางคนมองว่า เมืองไทยพัฒนาได้ยากเนื่องจากคนไทยมี สี่ขี้ นั่นคือ ขี้โกง ขี้เกียจ ขี้โอ่ ขี้อิจฉา ในช่วงนี้ มีคดีใหญ่ ๆ ในกระบวนการยุติธรรมที่บ่งชี้ว่าฝรั่งไม่น่าจะมองผิด วงการพัฒนายอมรับกันแล้วว่า ความขี้โกงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนา

สำหรับเรื่องความแปลกใจว่าผู้มีปริญญาสูงไม่น่าจะเป็นคนจนนั้นอาจเป็นการด่วนสรุป ทั้งนี้เพราะผู้มีปริญญาอาจเป็นผู้มีรายได้น้อยด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น ตกงานหลังจากใช้ทรัพย์สินหมดไปในการแสวงหาปริญญา ซ้ำร้ายยังอาจมีหนี้สินมากจากการแสวงหานั้นอีกด้วย นอกจากนั้น ยังอาจมองต่อไปได้ถึงปัญหาในระบบการศึกษาและฐานความคิดในสังคม อาทิเช่น ผู้มีปริญญาไม่มีความรู้ความสามารถจริงตามใบปริญญาเพราะได้ปริญญามาแบบ “จ่ายครบจบแน่” ซึ่งมักอ้างถึงกันบ่อย ๆ การได้ปริญญาแบบนี้มองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขี้โกงทั้งโดยสถาบันที่ประสาทปริญญาและผู้รับปริญญา ยิ่งกว่านั้น มันอาจชี้ไปถึงระบบการศึกษาที่ไร้มาตรฐาน

นอกจากนั้น ยังเป็นไปได้ว่าผู้จบการศึกษาหางานไม่ได้แม้จะมีความรู้ความสามารถในด้านที่เรียนมาเพราะไม่มีตลาดแรงงานรองรับ การคาดการณ์ผิดทั้งทางด้านผู้วางแผนการศึกษาและผู้เรียนจบปริญญาก่อให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินและเวลาที่ใช้ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญานั้น ในขณะเดียวกัน ผู้มีปริญญาอาจตกงานเพราะ “หัวสูง” โดยถือว่าตนมีปริญญา ต้องทำงานบางอย่างเท่านั้นจึงจะสมเกียรติ์ คงเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องจ้างแรงงานต่างชาติเพราะคนไทยไม่ยอมทำงานบางอย่างส่งผลให้เกิดความสูญเปล่าในสังคม

ผู้ผ่านการคัดกรองว่าเป็นคนจนสมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 11.6 ล้านคนนั้นคิดเป็น 17% ของประชากร สัดส่วนนี้สูงกว่าตัวเลขในอดีตอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเท่าที่ผ่านมาตัวเลขมักอยู่ในราว 11% จึงเกิดคำถามตามมาอีกมาก อาทิเช่น การพัฒนาที่ว่าเกิดขึ้นมาตลอดนั้นเกิดขึ้นจริงหรือ? การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนั้นไปตกอยู่ในกลุ่มคนรวยมากขึ้นส่งผลให้มีคนจนเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายใช่ไหม? นี่คือต้นตอของความเหลื่อมล้ำที่พูดถึงกันใช่ไหมและรัฐบาลจะมีมาตรการเชิงโครงสร้างต่อไปอย่างไร?

นอกจากนั้น ยังมีคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับแรงจูงใจที่มีการลงทะเบียนคนจนในช่วงนี้ การเมืองเป็นแรงจูงใจหลักใช่หรือไม่? ถ้าใช่ รัฐบาลนี้จะใช้มาตรการประชานิยมเพื่อปูฐานไปสู่การลงเลือกตั้งครั้งหน้าใช่ไหม? ถ้าใช่ มันเป็นการยืนยันกระบวนการในอาร์เจนตินาซึ่งชี้ว่า เพื่อหวังอยู่นานทหารจะสานต่อประชานิยมแบบเลวร้าย ฉะนั้น ควรเตรียมตัวรับความล้มละลายไว้ให้พร้อม