ค่าเสียหายเหมืองทองคำ

ค่าเสียหายเหมืองทองคำ

มีข่าวว่าบริษัทออสเตรเลียที่รับสัมปทานขุดทองคำที่พิจิตรและถูกปิดนั้น อาจเรียกค่าเสียหายจากไทยถึง30,000 ล้านบาท ประสบการณ์เมืองนอกเป็นอย่างไร

ธุรกิจเหมืองทองคำนั้น ณ สิ้นปี 2559 จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดด้วยทองคำถึง 463.7 ตัน รองลงมาคือออสเตรเลีย 287.3 ตัน และรัสเซีย 274.4 ตัน การผลิตทองคำมีการดำเนินการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เป็นทั้งบริษัทข้ามชาติเช่นที่มาลงทุนที่จ.พิจิตรของไทยก็มีเช่นกัน การทำเหมืองทองคำมีมาตั้งแต่ประมาณ 7,000 ปีมาแล้ว และบัดนี้ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำเหมือง เพราะความต้องการทองคำในตลาดโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีมลพิษจากเหมืองทองคำนั้น ในช่วงนับทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการทำเหมืองอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการรณรงค์ “No Dirty Gold” หรือการต่อต้านทองคำที่สกปรก ทำลายสิ่งแวดล้อมและบั่นทอนสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะคนงาน เป็นประเด็นสำคัญ ไม่มีใครป่วยหรือตายเพราะเหมืองทองคำพิจิตรเลย

อย่างเช่นกรณีนายสมคิด หรือลุงสมคิด ธรรมพเวช อดีตพนักงานเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่เสียชีวิต ภริยาของผู้ตายก็แจ้งว่า “จากผลการชันสูตรศพสามี ระบุว่า เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค” (http://bit.ly/1Zc11St) หรือกรณีนายเฉื่อย บุญส่ง ก็เป็นอีกรายที่สุดลวงโลก พวกเอ็นจีโอเอามาบอกว่านายเฉื่อยตายเพราะมลพิษของเหมือง แต่ฟังข่าวดี ๆ ท่านตายเพราะเป็นโรคตับแข็ง เป็นต้น (http://bit.ly/1VuKzxN)

โดยสรุปแล้ว ไม่มีใครเสียชีวิตเพราะเหมือง ถ้ามีมลพิษ คนงานเหมืองคงตายก่อน หรือรีบลาออกไป แต่ในความเป็นจริงคนงานก็อยู่ในบริเวณรอบเหมือง ที่ผ่านมามีแต่คนพยายามสร้างเรื่องเท็จ ถ้ามีการเสียชีวิตจริง คงถูกแห่ประจานไปแล้ว คนงานเหมืองก็แข็งแรงดี ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีโลหะหนักจริงๆ ก็คงไม่มีใครรับบริจาค แม้แต่คนขับรถลำเลียงสินแร่ ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หญิงขับ ส่วนที่เป็นผื่นคัน บางท่านคงไปฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วไม่ได้ล้างตัวให้สะอาด เป็นต้น

ที่ผ่านมาในบริบททั่วโลก ได้มีกรณีการทำเหมืองแล้วเกิดมลภาวะ จนต้องชดเชยค่าเสียหายต่าง ๆ อย่างกรณีเหมืองทองคำอาจมีข้อพิพาทน้อยกว่าสินแร่อื่น เพราะมีราคาแพง การขุดเจาะจึงมีความระมัดระวังมาก แต่ก็มีบ้าง เช่น กรณีน้ำและสารพิษปนเปื้อนในบางประเทศ (http://bit.ly/2vA1WUu) อย่างไรก็ตามในกรณีจ.พิจิตรปรากฏว่าพืชผักก็ไม่มีสารพิษแต่ถูกเอ็นจีโอหลอกว่า พืชผักต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเหมือง ไม่สามารถรับประทานได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง พืชผักยังทานได้ตามปกติ เมื่อเดือนมี.ค. 2559 ชาวต.เขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร เข้าแจ้งความกรณีถูกหลอกลงชื่อรับผักปลอดสารพิษ ก่อนนำไปแอบอ้างเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ (http://bit.ly/1P3rjAQ)

ประจักษ์หลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจก็คือคนงานเหมืองนับพันๆ คนที่พิจิตร ไม่มีใครเป็นโรค ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ทุกระยะ 3 เดือน สารพิษที่กล่าวถึงได้แก่: (http://bit.ly/1P7FBQN) สารหนูนั้น ร่างกายเราสามารถขับออกได้เองภายใน 2-3 วัน ในอาหารทะเลก็มีสารหนู แม้พิจิตรจะไกลจากทะเล แต่ก็ได้รับสารหนูได้จากกุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ ถ้าทานมากๆ และต่อเนื่องก็จะตรวจพบได้ในปัสสาวะ แมงกานีส ในร่างกายขาดไม่ได้ มีมากในผักสีเขียว พบในชาวมังสะวิรัติมาก แต่ไม่มีการตั้งเกณฑ์ว่าควรมีในเลือดเป็นปริมาณเท่าไหร่ กรมอนามัยเคยตรวจแล้วแต่ไม่เกี่ยวกับการทำเหมือง จึงถือเป็นการป้ายสีโดยไร้เหตุผล และถ้าหากว่ามีไซยาไนด์ ก็ปรากฏว่านกยังไปทำรังยังบ่อกักเก็บแร่ได้

ข้อพิสูจน์เหล่านี้ทำให้บริษัทออสเตรเลียที่รับสัมปทานสามารถฟ้องร้องประเทศไทยได้ ตามข่าวมีรายละเอียดว่า ขณะนี้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลไทย ภายหลังจากได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาท จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร และใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 เป็นต้นมา” (https://goo.gl/7LTNeK)

ค่าเสียหายเหล่านี้คิดจากอะไร ประเด็นที่นำมาพิจารณาก็คือ

  1. รายได้สุทธิต่อปีที่ได้จากการทำเหมือง หลักหักลงค่าใช้จ่ายแล้ว
  2. ระยะเวลาที่ยังเหลือในการทำเหมืองต่อไปได้
  3. ราคาทองคำและแนวโน้มในอนาคต
  4. อัตราความเสี่ยงและความผันผวนของราคาทองคำในตลาดโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ถ้าค่าเสียหายได้รับการตีไว้ที่ 30,000 ล้านบาท และสมมติว่าดอกเบี้ยปีหนึ่งเป็นเงิน 7% สำหรับระยะเวลาที่สมมติไว้ให้ทำเหมืองต่อได้ 15 ปี ก็จะเป็นเงินกำไรที่เขาควรได้รับแต่ไม่ได้รับเพราะถูก “ปิด” ไป เป็นเงินเท่ากับ

= [{(1+i)^ปี}-1] / i

= [{(1+7%)^15} -1] / 7%

= 25.12902201

แล้วนำเอาเงิน 30,000 ล้านบาทมาตั้งหารด้วย 25.12902201 ก็จะเท่ากับเป็นเงิน 1,193.838741 บาทคงที่โดยเฉพาะในปีแรกต่อเนื่องไปเป็นเวลา 15 ปี โดยมีดอกเบี้ยสมมติไว้ที่ 7% นั่นเอง ที่น่าเป็นห่วงก็คือเงินชดเชยนี้เอง ผมได้เคยให้ความเห็นไว้ในข่าวว่า "นักวิเคราะห์ ชี้ บิ๊กตู่ อาจต้องใช้เงินส่วนตัวนับหมื่นล้าน ชดใช้ปม ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 (มติชนออนไลน์ http://bit.ly/2x0r4Yd) กรณีนี้หากต้องชดเชยค่าเสียหายจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจต้องใช้เงินส่วนตัว หรือของคณะ คสช. ชดเชยค่าเสียหายเอง เพราะอาจถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาดของตนและคณะเอง

อย่างไรก็ตามทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การให้ประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดซึ่งอยู่ใกล้ชิดเหมืองมาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ได้มาลงประชามติว่าจะให้เปิดเหมืองใหม่หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการเปิดเหมืองเพราะได้ผ่านการเรียนรู้ก่อนและหลังการปิดเหมืองจะสามารถใช้วิจารณญาณได้ดีกว่าพวกเอ็นจีโอ และสามารถพิสูจน์ได้ถึงกรณีมลพิษด้วยตนเอง และเมื่อนั้น รัฐบาลก็สั่งปิดเหมืองใหม่ ที่หยุดไประยะหนึ่ง ก็อาจให้บริษัทออสเตรเลีย “ยกประโยชน์ให้จำเลย” (บิ๊กตู่) ไปเสีย เชื่อว่าการใช้วิธีประชาธิปไตยนี้จะช่วยให้รัฐไม่เสียหาย ประเทศชาติไม่เสียชื่อเสีย บริษัทต่างชาติก็ได้ประโยชน์ตามควร ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

  ใช้วิธีการประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาชาติเถอะ