E-commerce ไทยก่อนไปไกลถึง 4.0

E-commerce ไทยก่อนไปไกลถึง 4.0

E-commerce ไทยก่อนไปไกลถึง 4.0

คงทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีบัญชีคนใช้ FACEBOOK มากที่สุดในโลก! (เป็นที่ 1 ได้ไม่ง้อเหรียญทอง) อีกทั้งคนไทยยังมีเบอร์มือถือกว่า 90 ล้านเลขหมายและใช้เป็น Smartphone พร้อมอินเตอร์เน็ตได้เกินครึ่ง รวมทั้งจำนวนบัญชีของ LINE กว่า 38 ล้านและ FACEBOOK อีก 40 ล้าน ทำให้ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดการใช้ social network และพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ Digital Economy มากที่สุดประเทศหนึ่ง

เศรษฐกิจดิจิทัล... มากกว่าการขายของผ่านอินเตอร์เน็ต

โครงสร้างที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ นั้นต้องมีองค์ประกอบสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจ 4 ประเภทหลักๆด้วยกัน คือกลุ่มฮาร์ดแวร์ ที่ผลิต ประกอบ และจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) หรือแผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่เมืองไทยเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆของโลกเลยก็ว่าได้ ไปจนถึงสินค้าดิจิทัลตามไลฟ์สไตล์อย่างมือถือ Smartphone และแทปเล็ต ตลอดไปจนถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีโทรคมนาคมอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่กลุ่มธุรกิจประเภทการผลิตและประกอบชิ้นส่วนมือถือและแทปเล็ต

อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางการผลิตดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งเสริมให้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลภายในประเทศมากและซ้ำร้ายอาจจะไม่มีการส่งผ่านเทคโนโลยีจากผู้ว่าจ้างมาสู่ผู้รับจ้างผลิตในประเทศเลย โดยการศึกษาของมูลนิธิสถาบันอนาคตศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า แม้เราจะเป็นผู้ส่งออก HDD รายใหญ่ของโลก แต่มูลค่าเพิ่มของสินค้าอิเล็คโทรนิคส์ของไทยกลับเพิ่มขึ้นเพียง 5% ต่อปีเท่านั้นเอง

กลุ่มธุรกิจประเภทที่สองคือการบริการทางด้านโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และโทรคมนาคม ซึ่งรวมไปถึงการให้บริการระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ทั่วถึง การเข้าถึงโครงข่ายข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับการต่อยอดเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในด้านต่างๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการเข้าถึงกันและกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการค้าขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ซึ่งจัดอยู่ในหมวดประเภทธุรกิจที่จะกล่าวถึงต่อไป อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของกลุ่มธุรกิจประเภทนี้คือ จะได้รับการปกป้องด้วยกฎเกณฑ์ทางภาครัฐ และใบอนุญาตที่มีให้จำกัด ดังนั้น ช่องที่ผู้เล่นหน้าใหม่จากต่างชาติจะเข้ามารุกในตลาดในประเทศได้ จึงมักผ่านการร่วมทุนกับธุรกิจไทยเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ในประเภทที่สาม คือกลุ่มธุรกิจประเภท “ดิจิทัลคอนเทนท์ (Digital Content)” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอลต่างๆ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการทำงานของอุปกรณ์ดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมไปถึง สินค้าดิจิตอล อาทิ ดนตรี หนังอนิเมชัน หนังสือ E-books เกมส์ หรือการบริการดิจิทัล อย่างการศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น โดยผู้เล่นที่ครองตลาดตลาดดิจิทัลคอนเทนท์ในปัจจุบันเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และมีผู้ประกอบการไทยน้อยรายที่จะกล้าลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหากวิสัยทัศน์คือการพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนท์ควบคู่ไปด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความเข้มงวดในเรื่องการกำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรของผู้ประกอบการ เพราะนั่นนับว่าเป็นหัวใจหลักของการยกระดับกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ที่มีสินค้าและบริการที่ให้คุณค่าทางความสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสูง แต่ถูกทำซ้ำและลอกเลียนได้ง่าย

ท้ายสุด คือกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ซึ่งมักเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการที่มีอยู่ก่อนแล้วผ่านทางช่องทางดิจิทัลมากขึ้น และเป็นการผสมผสานกันระหว่างเศรษฐกิจแบบเดิม (traditional economy) ในนัยที่เราคุ้นเคยกันดี ผ่านช่องทาง “อิฐกับปูน (brick-and-mortar)” ซึ่งหมายถึงการค้าขายผ่านหน้าร้านและสถานที่ที่จับต้องได้ มีการเห็นหน้าค่าตากันระหว่างผู้ขายกับคนซื้อ กับเศรษฐกิจแบบใหม่ (new economy) ที่พึ่งพาการค้าขายผ่านช่องทานบนเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งในเมือมีการค้าขายกันมากขึ้นเรื่อยๆแต่ก็ยังมี process ที่ไม่ค่อยสะดวกนัก และชำระเงินผ่าน ATM หรือการโอนเงิน หรือแม้กระทั่งเงินสดเป็นหลัก

ความเชื่อมั่นที่เปราะบาง... โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจดิจิทัลไทย

แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba เคยให้สัมภาษณ์ว่าการที่เขาจำเป็นต้องสร้าง Alipay ขึ้นมา เพราะโครงสร้างระบบเศรษฐกิจในจีนนั้น ยังขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทำให้เป็นข้อจำกัดอย่างมากในการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ของ Alibaba เขาจึงต้องตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างระบบชำระเงินที่ให้ความมั่นใจกับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อว่ามีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ เพราะเราต้องอย่าลืมว่าการค้าผ่านสื่อกลางดิจิตอลนั้น เป็นการค้าที่ผู้ขายไม่ได้เจอผู้ซื้อ ผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าก่อน และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการหากเกิดปัญหาระหว่างธุรกรรม

โลกของเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นโลกธุรกิจที่สร้างขึ้นบนความน่าเชื่อถือและการสั่งสมชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และในประเด็นนี้เองที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายบนโลกไซเบอร์ที่ท้ายสุดต้องมีตัวกลางที่เชื่อถือได้มารับรองถึงคุณภาพและการมีตัวตนของแต่ละฝ่าย และเป็นจุดกำเนิดให้ธุรกิจตลาดดิจิทัลตัวกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอย่าง Alibaba และ eBay ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมหาศาลในตลาดอีคอมเมิร์ซ จึงไม่แปลกที่ผู้เล่นจากต่างประเทศจะมีความได้เปรียบในการบุกเข้าทำตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยพอสมควร เช่น LINE, Lazada, Zalora, และ Foodpanda อีกทั้งยังมีผู้เล่นอีคอมเมิร์ซด้านบริการอย่าง Uber จากสหรัฐฯ GrabTaxi จากฟิลิปปินส์ และ Agoda ในกลุ่มบริษัท Priceline.com จากสหรัฐฯ ที่ใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จอยู่เดิม ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัยผ่านการสั่งสมมาในหลายๆตลาด จึงนำพาเอาชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจากตลาดต่างประเทศเข้ามาเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศได้ไม่ยาก

ทำให้เห็นได้ว่า แม้ช่องทางการทำการค้าอีคอมเมิร์ซจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่กาต้องเร่งทำควบคู่ไปกับพร้อมกับการสร้างความเชื่อถือทั้งในคุณภาพและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบที่มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของบริษัทเป็นหัวใจหลักอันหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่อย่างนั้น เราคงเสร็จ “ตาอยู่” จากต่างประเทศอีกตามเคย

ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด