Spice your portfolio up with innovations

Spice your portfolio up with innovations

Spice your portfolio up with innovations

ต่อยอดความสำเร็จจากการเป็นผู้นำตลาดที่ส่ง กองทุน K SGM ซึ่งใช้กลยุทธ์จัดสรรเงินลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยงเป็นหลัก หรือ Risk Based Allocation สู่ผู้ลงทุนไทยเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ล่าสุด เรานำเสนอกลยุทธ์แนวใหม่ที่อัดเต็มด้วยคาแรคเตอร์พิเศษหลายประการภายใต้ชื่อ Global Risk Enhanced Asset Allocation โดยความร่วมมือกับธนาคาร Lombard Odierโดยยังคงตอกย้ำการจัดสรรเงินจากค่าความเสี่ยงและกระจายลงทุนใน 5 สินทรัพย์หลัก คือ พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นประเทศเกิดใหม่ และโภคภัณฑ์ อธิบายง่ายๆ คือ หากราคาหุ้นเหวี่ยงขึ้นลงแรง ค่าความเสี่ยงหุ้นจะสูงขึ้น K SGM จะลดเงินลงทุนในหุ้นลงไปซื้อสินทรัพย์อื่นที่ราคาเหวี่ยงขึ้นลงน้อยกว่า ทำให้ความเสี่ยงรวมของเงินลงทุนไม่สูงมากและสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ จุดเด่นคือการปรับสัดส่วนนี้ใช้ข้อมูลทางสถิติเท่านั้น ไม่มีการแทรกแซงการตัดสินใจจากการคาดการณ์เศรษฐกิจและตลาดทุนมาเกี่ยวข้อง

กลยุทธ์ Global Risk Enhanced Asset Allocation มีนวัตกรรม ดังนี้

1. ใช้หลักการ Risk Parity คือกำหนดความเสี่ยงในแต่ละสินทรัพย์เท่าๆ กัน สินทรัพย์แต่ละประเภทให้ผลตอบแทนโดดเด่นในแต่ละวัฎจักรเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกำไรดีเมื่อเศรษฐกิจเติบโต แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอ ดอกเบี้ยลดลง ราคาพันธบัตรและหุ้นกู้จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงเท่าๆ กันจะทำให้มีเครื่องจักรตัวใดตัวหนึ่งทำงานสร้างผลตอบแทนในทุกๆ สภาวะเศรษฐกิจ หลักการนี้ใช้ครั้งแรกโดยนาย Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates และเป็นผู้จัดการ Hedge Fund ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนที่มักเอียงเข้าหาหุ้นเพราะมีแนวโน้มผลตอบแทนสูง แต่มักเกิดผลขาดทุนมากเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ

2. การกระจายความสี่ยงมากๆ อาจทำให้ผลตอบแทนลดลง ดังนั้น เพื่อสร้างอัตราทด (Leverage) และยกระดับผลตอบแทนให้สูงขึ้น กลยุทธ์นี้จึงลงทุนผ่านอนุพันธ์ (Derivatives) เช่น Futures และ Swap แทนการลงทุนตรงในสินทรัพย์ โดย Futures เป็นเครื่องมือที่อัตราทดสูง เช่น ใช้เงินลงทุนเพียง 10% ของราคาสินทรัพย์ และได้ผลตอบแทน (ทั้งกำไรและขาดทุน) ใกล้เคียงกับลงทุนตรง ผลตอบแทนจึงคิดเป็น 10 เท่า

3. ด้วยความเสี่ยงจากอัตราทดที่เพิ่มขึ้น กลยุทธ์นี้จึงสร้างกลไกควบคุมความเสี่ยงขาลง (Drawdown Management) เพื่อลดอัตราทดในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ลดลง ความเร็วในการจัดการจะขึ้นอยู่กับภาวะตลาดด้วยว่าราคาสินทรัพย์ลงในช่วงพื้นฐานเศรษฐกิจดี หรือลดลงในภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ

4. นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของเงินลงทุนจะใช้กลยุทธ์ทางเลือก (Alternative Risk Premia, ARP) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เป็นอิสระจากทิศทางราคาสินทรัพย์ 5 ประเภทหลักข้างต้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยงในช่วงเวลาไม่ปกติ (แม้จะเกิดไม่บ่อยและกินเวลาไม่นาน) ที่ทุกสินทรัพย์ราคาลดลงพร้อมกัน ผ่านกลยุทธ์ Long Short เช่น 1) ซื้อ Futures บนหุ้นและขาย Futures บนดัชนีตลาดหุ้น ซึ่งมีโอกาสสร้างกำไรทั้งในช่วงตลาดขึ้นหรือลง เพียงราคาหุ้นที่ซื้อขึ้นมากกว่าดัชนีตลาดหุ้นที่ขายในภาวะตลาดขาขึ้น หรือราคาหุ้นตัวที่ซื้อลงน้อยกว่าดัชนีตลาดหุ้นที่ขายในช่วงตลาดขาลง หรือ 2) ซื้อสกุลเงินของประเทศใน G10 ที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด ขณะเดียวกันก็ขายสกุลเงินของประเทศ G10 ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำสุด ผลตอบแทนที่ได้จึงไม่ขึ้นกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ARP เป็นอิสระและเพิ่มประสิทธิภาพให้การกระจายความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่ง

จะเห็นได้ว่ามีนวัตกรรมการลงทุนหลายอย่างที่แม้จะซับซ้อนขึ้น แต่มีประโยชน์และตอบโจทย์ทั้งการกระจายความเสี่ยง (Risk Parity และ ARP) เพื่อสร้างและสะสมผลตอบแทนสม่ำเสมอ การสร้างอัตราทด (Leverage) จากเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ รวมทั้งการจัดการกับความเสี่ยงขาลง (Drawdown Management) ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจกลยุทธ์นี้อย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน