ปรับ‘ค่าตั๋ว’บีทีเอส 1-3 บาท ดันกำไรปีนี้ สูงสุด 3 %

ปรับ‘ค่าตั๋ว’บีทีเอส 1-3 บาท ดันกำไรปีนี้ สูงสุด 3 %

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.00-14.30 น.

ปรับ‘ค่าตั๋ว’บีทีเอส 1-3 บาท

ดันกำไรปีนี้ สูงสุด 3 %

ทุกวันนี้คนไทยน่าจะรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่เงินในกระเป๋ากลับน้อยลงทุกวัน มาจากทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีหนี้ที่ต้องผ่อนต้องชำระที่เพิ่มมูลค่าตามความต้องการของชีวิต ทั้งที่รายได้ที่เข้ามาไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยิ่งประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเร็วๆนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บและโปรโมชั่น เที่ยวเดินทางสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส รอบนี้ 1-3 บาท เฉพาะสายที่ได้รับสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร มีสองสายด้วยกัน สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม ตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน ซึ่งสายนี้มีส่วนต่อขยาย จากสถานีสะพานตากสินถึงสถานีวงเวียนใหญ่ มีผลอย่างเป็นทางการ 1 ต.ค.2560 นี้

ราคาที่ปรับขึ้นดังกล่าวจะอยู่ในกรอบ 16-44 บาท จากเดิม 15-42 บาท ดังนั้นใครที่ซื้อตั๋วรายเที่ยวต้องเพิ่มเงิน 1-3 บาท ตั๋ว 30 วัน สำหรับบุคคลธรรมดาเพิ่มเงิน เที่ยวละ 1 บาท

ส่วนบัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน เป็นบัตรที่บีทีเอสเป็นผู้บริหารเองยังคงอัตราค่าโดยสารเท่าเดิม 15-42 บาท เพราะพึ่งได้ปรับค่าโดยสารไม่นานเมื่อเดือนมิถุนายน จะถึงรอบปรับขึ้นอีกครั้งก็ 31 มี.ค. 2561

ส่วนเส้นทางอื่นส่วนต่อขยายสถานีอ่อนนุช - สถานีสำโรง และสถานีวงเวียนใหญ่ - สถานีบางหว้า ยังอยู่ภายใต้กรุงเทพมหานครไม่ได้มีการโอนสัปทานไปยังบีทีเอสจึงใช้โครงสร้างค่าตั๋วตามประกาศของกรุงเทพมหานครเหมือนเดิม

ตามสัญญาสัปทานที่บีทีเอสได้มา กรอบค่าตั๋วกำหนดไว้อยู่ในอัตรา 20.11 - 60.31 บาท ปรับราคาตั๋วรอบนี้คิดเป็นการปรับประมาณ 3.5-10.5 % ทำให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 28.50 บาท ต่อเที่ยว จากเดิมอยู่ที่ 27.9 บาทต่อเที่ยว หากมองแค่ตรงนี้พอมองออกว่าบีทีเอสควรจะมีทั้งรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นแน่นอน

โดยโครงสร้างรายได้ของบีทีเอส ตามงบไตรมาส 1/60-61 มาจากรายได้ระบบขนส่งมวลชน 64.1 % รองลงมาเป็นรายได้จากสื่อโฆษณา มีทั้ง แรบบิทกรุ๊ป ,บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) และบริษัท มาสเตอร์ แอด (MACO) บริษัทร่วมลงทุน สัดส่วน 27.3 % นอกนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ 4.7 % และ บริการอื่นๆ 3.9 %

การเติบโตของรายได้หลักจากงานระบบขนส่งมวลชน ในงวดเดียวกัน 1,992 ล้านบาท บวกถึง 196.9 % มาจากการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต - คูคต และสายสีเขียวใต้ แบริ่ง - สมุทรปราการ เฉพาะในส่วนนี้มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 32.9 % นับว่าสูงมาก แต่ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ที่ 67.3 %

การที่กำไรขั้นต้นลดลงเกือบครึ่ง มาจากกการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน จำนวนผู้โดยสาร 56.5 ล้านเที่ยว ล่าสุดอยู่ที่ 58 ล้านเที่ยวคน ขณะที่ราคาค่าโดยสารเฉลี่ย จาก 28.1 บาทต่อเที่ยว อยู่ที่ 27.9 บาทต่อเที่ยว ตัวเลขสวนทางชัดเจนว่าอัตราการเติบโตผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง

เมื่อเทียบกับการลงทุน ของบีทีเอส พึ่งสั่งซื้อตู้โบกี้ 22 ขบวนเข้ามาให้ จะมีการรับมอบพ.ค.2561 ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมา 508.9 % หรือ 1,117.9 ล้านบาท ยังไม่นับรวมกับการเตรียมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเพื่อจะเปิดให้บริการต้นปี 2564 งานปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าเดิม ทำให้บีทีเอสหันมาเลือกปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อเพิ่มรายได้และฐานกำไรกลับมาอัตราเฉลี่ยปกติ

จากการปรับค่าโดยสารในรอบนี้ มีการให้แวลลูหุ้น BTS เพิ่มขึ้นชัดเจน จนคาดการณ์ถึงกำไรรับรู้ในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด 3 %

บล.ฟินันเซียไซรัส มองกำไรงวดปี 2561 ที่ 2,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 % จากปีก่อน และจะเริ่มรับรู้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเต็มปี 1-3 % ราคาหุ้นจึงให้ที่ 10.20 บาท เช่นเดียวกับ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ซึ่งมองว่าการปรับค่าโดยสารรอบนี้ทำให้เข้าใกล้เป้าหมายการจัดเก็บค่าโดยสารเฉลี่ยปีนี้ (Fare Box) ให้เพิ่มขึ้น 1 % แม้ว่าจำนวนประชาชนให้บริการจะลดลงจากการขึ้นค่าโดยสารเพียงแค่ระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวประชาชนกลับมาใช้บริการตามปกติเพื่อหนีปัญหาการจราจรที่ติดขัด ไม่ตรงเวลานัดหมายไม่ได้ ดังนั้นราคาหุ้นจึงคงที่ 9.38 บาท

ขณะที่ บล. เคจีไอ กลับให้ราคาขยับเป้าหมาย 10.60 บาทขยับขึ้นได้อีก 2.6 % เพราะได้รับรู้กำไรสุทธิเต็มปี 3 % ในงวดปี 2561 ซึ่งบีทีเอสเองยังมีประเด็นลุ้นมีสิทธิรับบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในอนาคตอีกด้วย

เมื่อคาดการณ์รายได้จะเพิ่มขึ้น กำไรจะดี ราคาหุ้นยังมีช่วงบวกให้ได้ลุ้น ประชาชนที่รู้สึกเหมือนโดนเพิ่มภาระจากการปรับขึ้นค่าโดยสารบีทีเอสในรอบนี้ น่าจะมาศึกษาหุ้นตัวนี้ไว้บ้าง ทั้งหุ้น BTS และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท ( BTSGIF ) เพื่อรับกำไรไปชดเชยกับค่าใช้จ่ายตั๋ว