พ่อแม่นักแชร์ - คิดสักนิดก่อนโพสต์

พ่อแม่นักแชร์ - คิดสักนิดก่อนโพสต์

ในช่วงที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีการถกเถียงกันในประเด็นของ “พ่อแม่นักแชร์” หรือ “Sharents” (เป็นคำแสลงมาจาก share + parents)

 ที่ทำให้เด็กจำนวนมากมีตัวตนในอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ก่อนจะใช้อินเทอร์เน็ตได้เสียอีก บางคนมีรูปถ่ายอยู่ในเว็บไซต์ตั้งแต่ยังมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวด้วยซ้ำจากการโพสต์รูปภาพอัลตร้าซาวนด์โดยผู้เป็นพ่อแม่ ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า สิทธิของพ่อแม่ในกรณีเช่นนี้ควรมีขอบเขตหรือไม่ เพียงใด

ในประเทศฝรั่งเศส มีการตื่นตัวของสังคมจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาเตือนถึงความรุนแรงของกฎหมายสิทธิส่วนบุคคลซึ่งรวมถึงสิทธิส่วนบุคคลของเยาวชนด้วยการที่พ่อแม่โพสต์รูปหรือข้อมูลส่วนตัวของลูกลงสู่โลกออนไลน์โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือการโพสต์ที่อาจทำให้ลูกถูกล้อเลียนหรือเสียชื่อเสียงในภายหลังนั้น พ่อแม่อาจจะถูกฟ้องจากบุตรหลานของตนได้

สำหรับในประเทศต้นกำเนิด Facebook อย่างสหรัฐนั้น ความคิดเห็นก็แบ่งออกเป็น 2 แนวทางเช่นกัน คือ ฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก และฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจการตัดสินใจของพ่อแม่ สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคลของเด็กนั้นก็คือ Children’s Online Privacy Protection Act of 1998 หรือ COPPA ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือบริการออนไลน์ต่าง ๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กก่อนหากต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวหรือรูปภาพของผู้เยาว์ที่อายุไม่ถึง 13 ปี หากแต่ไม่มีตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนในกรณีที่ผู้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปภาพนั้นเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเอง

ในประเด็นดังกล่าว เมื่อเทียบเคียงคำพิพากษาต่าง ๆ ดังเช่นคำพิพากษาคดี Bellotti v. Baird, 443 U.S. 622 (1979) ศาลได้วางหลักไว้ว่า ในกรณีที่ส่วนได้เสียของเด็กขัดแย้งกับของพ่อแม่นั้น หากเด็กสามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ได้แล้ว ศาลให้ถือว่าเด็กสามารถตัดสินใจเองได้ หลักที่ศาลวางไว้คือ ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเองมีวุฒิภาวะมากพอ หรือพิสูจน์ได้ว่าการตัดสินใจในสถานการณ์นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของตน อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาคดี Troxel v. Granville, 530 U.S. 57, 65 (2000) ศาลได้อ้างถึงหลักกฎหมายจากคำพิพากษาคดี Pierce v. Society of Sisters, 268 U.S. 510 (1925) เพื่อยืนยันสิทธิพื้นฐานของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูก

จากแนวทางคำพิพากษาที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ศาลจะรับรองสิทธิส่วนบุคคลของเด็กก็ตาม แต่ศาลมักจะไม่ก้าวก่ายในเรื่องสิทธิการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ แต่กระนั้นก็ยังมีข้อยกเว้น คือในกรณีที่ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพถ่ายของเด็กที่พ่อแม่แชร์นั้นทำให้เด็กเสื่อมเสียชื่อเสียงในภายหลัง ตัวลูกเองก็สามารถฟ้องร้องเพื่อให้พ่อแม่ลบรูปและข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายได้ เนื่องจากในคดีหมิ่นประมาทนั้นไม่มีข้อกำจัดในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องแต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทยนั้น มาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญวางหลักไว้ให้บุคคลทุกคนมีสิทธิในความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว โดยห้ามมิให้บุคคลอื่นใดนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เว้นแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหลักนี้เหมือนกับกฎหมายสิทธิส่วนบุคคลของฝรั่งเศสในแง่ที่ว่าไม่มีเงื่อนไขในเรื่องของอายุ ดังนั้นสิทธิส่วนบุคคลของผู้เยาว์ย่อมได้รับความคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งหัวใจของการคุ้มครองเด็กตามมาตรา 22 ของกฎหมายนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคำพิพากษาของประเทศสหรัฐ นั่นคือให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของเด็กในบริบทของสังคมไทยเป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจากในสภาพสังคมไทยนั้นถือว่าพ่อแม่มีสิทธิในการตัดสินใจแทนลูกในเกือบทุกกรณี ประกอบกับวัฒนธรรมไทยมองว่าพ่อแม่คือผู้มีพระคุณและการฟ้องร้องพ่อแม่เป็นการแสดงถึงความอกตัญญู

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังวางหลักไว้ในมาตรา 1562 กรณีคดีอุทลุมอีกว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีเป็นคดีแพ่งหรืออาญาไม่ได้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้นั้นหรือญาติสนิทร้องขอ อัยการจึงจะสามารถยกคดีขึ้นมาได้ จากบทกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากลูกจะฟ้องพ่อแม่ในเรื่องหมิ่นประมาททางแพ่งนั้นไม่สามารถทำได้ แต่ในกรณีของการหมิ่นประมาททางอาญานั้นหากอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมจะยกขึ้นฟ้องก็สามารถทำได้

จะเห็นได้ว่า โดยหลักกฎหมายประกอบกับวัฒนธรรมของไทยที่เน้นถึงความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการีแล้ว การที่ลูกจะฟ้องพ่อแม่ว่าการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปภาพของลูกลงสู่โลกออนไลน์ทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลจากความเป็นจริง ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของบุตรหลานเป็นหลักก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปภาพของบุตรหลานของท่านลงสู่โลกออนไลน์ เนื่องจากระบบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตค่อนข้างถาวร แม้ว่าจะลบจากเว็บไซต์ไปแล้วก็ตาม แต่รูปหรือข้อมูลเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในอินเทอร์เน็ตตลอดไป ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อเด็กได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ โจรสะกดรอยหรือผู้ร้ายล่อลวงเด็กก็มีอยู่ทั่วไปไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัวหรือญาติสนิท การป้องกันไว้จึงน่าจะเป็นมาตรการที่ดีกว่าวัวหายล้อมคอกโดยแนวทางการป้องกันคร่าว ๆ คือการไม่โพสต์รูปของลูกขณะที่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า ไม่แบ่งปันตำแหน่งสถานที่ของลูก หรือวิธีการติดต่อลูกเพื่อความปลอดภัยของตัวลูกเอง นอกจากนี้ ไม่ว่าจะโพสต์เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตาม ควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาต่อชีวิตของลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโดนล้อเลียนจากเพื่อนและสังคมหรือชื่อเสียงของลูกในอนาคตด้วยเช่นกัน

//////////////

โดย ดร. สรรเพชุดา ครุฑเครือ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ​