ทำไม “คนดี” จึงทุจริตคอร์รัปชัน

ทำไม “คนดี” จึงทุจริตคอร์รัปชัน

อออกตัวก่อนว่าไม่ได้ต้องการทับถมหรือเสียดสีใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการชี้ให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของการทำสิ่งไม่ดี ซึ่งมุมมองนี้ไม่เกี่ยวกับว่า

คุณนับถือศาสนาอะไร มุมมองนี้ไม่ต้องการบอกว่าคุณ “ควร” หรือ “ไม่ควร” มีพฤติกรรมอย่างไร แต่มุมมองนี้เน้นการอธิบายพฤติกรรมตามความเป็นจริงมากกว่า สาขาวิชาที่ชื่อว่า จริยธรรมพฤติกรรมหรือ Behavioral Ethics พยายามตอบคำถามที่ค้างคาใจคนจำนวนมากเช่น เหตุใดคนดีจึงทำความชั่ว หรือทำไมเรามองไม่ออกว่าคนนี้เป็นคนไม่ดี (ในขณะที่คนอื่นมองออก) เป็นต้น สาขาวิชานี้บอกว่าการตัดสินใจของมนุษย์ไม่มีมาตรฐานเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมภายนอกด้วย มีหลายปัจจัยดังต่อไปนี้ที่ส่งผลให้ “คนดี” ซึ่งก็คือคนปกติแบบเราๆ ท่านๆ ทำสิ่งที่ไม่ดีเช่น ทุจริตคอร์รัปชัน

  1. การเชื่อฟังผู้มีอำนาจหรือ Obedience to Authority หลายคนไม่ต้องการทำสิ่งไม่ดี แต่มีหัวหน้างาน เจ้าของบริษัท ผู้มีอิทธิพล หรือ ไอ้โม่ง สั่งให้เขาทำ เวลาที่ผู้มีอำนาจสั่งให้เราทุจริต แม้ว่าในใจของเราจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่หลายๆ ครั้ง เราไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งเหล่านั้นได้ ลองคิดดูว่าถ้าเจ้านายของคุณบอกให้คุณเอาเงินใต้โต๊ะไปให้ข้าราชการคนหนึ่ง เพื่อให้เขาอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ คุณกล้าที่จะปฏิเสธไหม 

การปฏิเสธหมายความว่าผลการประเมินประจำปีจะออกมาไม่ดี และในเกือบทุกกรณี คุณจะต้องหางานใหม่ หรือในกรณีที่คุณเป็นข้าราชการแล้วมีนักการเมืองสั่งให้คุณร่วมทุจริต ถ้าคุณไม่เชื่อฟัง คุณก็ต้องถูกย้ายหรือเตรียมหางานใหม่เช่นกัน 

ดังนั้น เมื่อมีผู้มีอำนาจสั่งให้เราทำอะไรที่ผิด เราก็มักจะทำตามและบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร เราแค่ทำตามที่เขาสั่งมาเท่านั้น สรุปง่ายๆ คือการเชื่อฟังผู้มีอำนาจทำให้เรารู้สึกผิดน้อยลงนั่นเอง

  1. อคติในการทำตามคนอื่นหรือ Conformity Bias พฤติกรรมที่มีคนทำตามจำนวนมาก จะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับได้ซึ่งรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ในประเทศไทย หลายคนเห็นว่าการทุจริต การโกง การติดสินบน หรือแม้กระทั่งการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทย เด็กที่เกิดมาเห็นพ่อแม่ตัวเองติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเป็นเรื่องปกติ พอโตขึ้นก็เห็นนักธุรกิจมีฐานะร่ำรวยเพราะพวกพ้อง เห็นข้าราชการและนักการเมืองมีตำแหน่งจากการโกง ฯลฯ
  2. จับต้องได้สำคัญกว่าจับต้องไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนเราเลือกที่จะให้คุณค่าแก่สิ่งที่จับต้องได้มากกว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้น หากการตัดสินใจส่งผลไม่ดีต่อตัวเรา (และคนอื่น) อย่างไม่ชัดเจนคือ ไม่แน่ใจว่าจะกระทบใครและรุนแรงเท่าใด เราก็จะใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการทำผิดจริยธรรมได้ เวลาที่เราจะโกง เราอาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “ประโยชน์” และ “โทษ” ของการกระทำ แน่นอนว่าประโยชน์ของการโกงคือร่ำรวยเช่น รวยขึ้น 10 ล้านบาททันที ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ในขณะที่โทษของการโกงคือ เข้าคุก (มีโอกาสถูกจับได้น้อยมาก) เวรกรรม (ไม่รู้ว่าเมื่อไร) ตกนรก (ไม่รู้ว่ามีจริงไหม) ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าคนเราเลือกที่จะทำสิ่งไม่ดีได้อย่างสบายใจ

ข้อคิดที่ได้จากปัจจัย การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ คือ ในกรณีที่มีการกระทำผิด ผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าควรต้องรับผิดชอบมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้น้อยที่ทำตามคำสั่งก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ทั้งหมด เราจำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วยการไม่ทำตามและออกมาจากตรงนั้น อย่าลืมนะครับว่าหลายครั้งผู้มีอำนาจสั่งแบบไม่มีหลักฐานเช่น ทางวาจา ดังนั้น ถ้าถูกจับได้ขึ้นมา เราต่างหากที่ต้องรับความผิดนั้นแต่เพียงผู้เดียว 

สำหรับหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชน ควรจัดให้มีกระบวนการอย่างเป็นทางการในการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครอง คนเป่านกหวีด (Whistle Blower)” หรือคนที่แจ้งเบาะแสกรณีพบการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลในองค์กร เพราะถ้าไม่มีกระบวนการลักษณะนี้ ปัจจัย การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ ก็จะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น

สำหรับปัจจัย อคติในการทำตามคนอื่น นั้น เราควรใช้สถานการณ์ปัจจุบันให้เป็นโอกาส เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย ทุกฝ่ายทั้งราชการ เอกชน และประชาชน ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่า การโกงไม่ใช่เรื่องปกติและการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทยอีกต่อไป เราต้องตอกย้ำให้ทุกคนรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่โกง ไม่ทุจริต ไม่คอร์รัปชัน

ปัจจัยสุดท้ายคือ จับต้องได้สำคัญกว่าจับต้องไม่ได้ สะท้อนถึงการให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนไทย เราจำเป็นต้องสอนและแสดงให้พวกเขาเห็นว่า “โทษ” ของการทุจริตคอร์รัปชันนั้น รวดเร็ว รุนแรงและจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ทำผิด สำนึกผิดและได้รับโทษแล้ว สังคมก็ควรให้อภัยอย่างรวดเร็ว เพราะต่อให้เป็น “คนดี” ก็สามารถทำผิดได้เช่นกัน

*****

โดย ผศ. ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ

ภาควิชาบริหารธุรกิจ

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
[email protected]