เปิดมุมมองต่างชาติ ผ่าน ‘ไทยแลนด์โฟกัส’

เปิดมุมมองต่างชาติ ผ่าน ‘ไทยแลนด์โฟกัส’

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.00-14.30 น.

ทุกครั้งที่มีการจัดงานเชิญนักลงทุน กองทุนทั่วโลก ให้เข้ามารับฟังนโยบาย ความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ว่ามีทิศทางอย่างไร และบริษัทจดทะเบียนมีวิสัยทัศน์มองเห็นโอกาสอย่างไร รวมถึง ได้ประโยชน์จากภาพเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยหรือไม่ มักจะคาดหวังว่าจะมีการลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น และผลักดันดัชนีหุ้นไทยให้ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

ด้วยหลังจากที่รับฟังความคิดเห็นแล้ว นักลงทุนกลุ่มนี้จะคาดการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาทั้งการตั้งเป้าหมาย ตัวเลข และสถิติ เพื่อนำไปจัดสรรเงินลงทุนที่มีในพอร์ต ว่าควรใส่เงินลงทุนในตลาดเงิน ตลาดทุน บริษัทจดทะเบียน มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ควรลงทุนเลย

งานไทยแลนด์ โฟกัส จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติสนใจใช้เวทีนี้เป็นคำตอบของโจทย์ข้างต้น ยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งกระตุ้นให้นักลงทุนอยากจะรู้ตอบมากขึ้นไปอีก ถือได้ว่างานนี้มาได้ถูกจังหวะพอดี

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน แจ้งจำนวนสถาบันทั่วโลกที่เข้ามาร่วมงาน 116 ราย จากปีก่อน ที่ 112 ราย แต่มูลค่าสินทรัพย์รวม สูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าปีที่แล้ว ถึงเท่าตัว อยู่ที่ 3.7 แสนล้านดอลลาร์ มีการนัดประชุมรูปแบบ one-on-one และ group meeting 1,464 ครั้ง มากที่สุดตั้งแต่มีการจัดงาน

ประเด็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินเท่าไร แต่อยู่ที่ความคิดเห็นของกลุ่มสถาบันต่างชาติ ว่าเชื่อมั่นในข้อมูลที่ไทยนำเสนอหรือไม่ ท่ามกลางตลท. และ บล.ภัทร ต่างชูธงยกให้ตลาดหุ้นไทยในรอบนี้มีทิศทางชัดเจนขึ้น

เกศรา มัญชุศรี ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองถึงฐานะแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย รอบครึ่งปีที่ผ่านมา มีผลงานไม่น้อยหน้าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทั้งการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลมากกว่าปีที่ผ่านมา อัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ไทยนิ่งมานานเริ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ประมาณ 15-16 เท่า แต่ยังน้อยกว่า ตลาดอินโดนีเซียและฟิลลิปินส์ ขึ้นไปสูงถึง 19-20 เท่า แปลง่ายๆ ว่า หุ้นไทยไม่ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา แต่ตอนนี้หุ้นไทยเริ่มน่าสนใจแล้ว

สอดคล้องกับตัวเลขการซื้อขายของต่างชาติ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (28 ส.ค.2560) ยังขายสุทธิต่อเนื่อง 4,661.3 ล้านบาท ทั้งที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นปีนี้เป็น 30% จากปีก่อน อยู่ที่ 25 %

เช่นเดียวกับ บล.ภัทร ให้เป้าหมายดัชนีหุ้นสิ้นปีที่ 1600 จุด ไม่เปลี่ยนแปลง มองถึงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป นโยบายการเงินทั่วโลกยังผ่อนคลายมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุน เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีจากส่งออกและภาคบริการ และฐานะการเงินบริษัทในตลาดหุ้นไทยมีภูมิต้านทานสูงต่อความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก แต่มีปัญหาคือการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่ฟื้น

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ผู้จัดงานต่างคอนเฟริมส์เป็นเสียงเดียวกันว่าประเด็นเรื่องการเมืองที่น่าจะมีการซักถามมากที่สุด กลับไม่มีนักลงทุนในงานซักถามขึ้นมาเป็นประเด็นหลักเลย โดยส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่การดำเนินนโยบายต่างๆ ยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ที่เคยล่าช้า ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งได้รับคำตอบที่หนักแน่นจาก ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ EEC คือ ต่อให้ไม่มีการเลือกตั้งโครงการนี้เดินหน้าต่อ

หันมาดู ผู้ที่เข้ามาร่วมงาน ปริญญ์ พานิชภัค กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) ฐานะนักลงทุนสถาบัน ให้มุมมองที่แปลกใจว่าจำนวนผู้ที่เข้ามาร่วมงานไม่ได้คึกคักเปรียบเทียบกับงานที่จัดขึ้นที่อินโดนีเซีย หรือฟิลลิปินส์ ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเยอะกว่าไทย

คำตอบน่าจะมาจากต่างชาติละเลยการลงทุนในหุ้นไทยไป เรียกได้ว่า แทบไม่มีหุ้นในหน้าตักก็ว่าได้ เมื่อสถานการณ์การเมืองหลังจาก อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้หลบหนีออกนอกประเทศ ตามข่าวทำให้สถานการณ์คลี่คลาย บวกกับจังหวะหลังเดือนตุลาคมผ่านพ้นไป โอกาสต่างชาติกลับมาลงทุน 2 เดือนสุดท้ายของปี จึงสูงมากและดัชนีสามารถบวกได้ถึง 100-200 จุด มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีไว้ที่ 1670 จุด

หุ้นที่เข้าพอร์ตมี PTT-IVL-BANPU-PTTGC-SWAD-STEC เน้นเล่นตามหุ้นใหญ่ที่ต่างชาติลงทุนและราคาน้ำมันยังทรงตัวแดนบวก ส่วนหุ้นที่ขายระยะสั้นกลุ่มธนาคาร KBANK - KTB-SCB โดยเฉพาะมีปัญหาความเสี่ยงหนี้และรับความเสี่ยงจากปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างมาก 

นาทีนี้ หากดูจากดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (29 ส.ค. 60) ทำเซอร์ไพส์บวกทะลุ 1,600 จุด ท่ามกลางตลาดเอเชียที่ปรับตัวลดลง มูลค่าการซื้อขายทะลุ 8 หมื่นล้านบาท และหุ้นใหญ่ขึ้นมาหมด ทำให้มองได้ว่าความเชื่อมั่นต่างชาติเพิ่มขึ้นหลังการเมืองคลี่คลายคงไม่ผิดหนัก เพียงแต่จะแค่ระยะสั้นหรือระยะยาวดูกันต่อไป