The Waze Forward

The Waze Forward

โลกของอนาคตคือโลกแห่ง Waze

“ทำไมยูไม่ใช้เวซ์” เพื่อนออฟฟิศถามผมอย่างประหลาดใจ เมื่อเห็นผมกดหาเส้นทางด้วยแอพ Google Maps เรากำลังขับรถไปตีเทนนิสกันหลังเลิกงาน

“เวซ์คืออะไร” ผมถามงงๆ อยู่เมืองไทยใช้กูเกิลมาตลอด แถมใส่ฟังก์ชั่น traffic เข้าไปเห็นสีแดง สีเขียว สีเหลือง ซอกแซกหลบการจราจรกรุงเทพฯ ได้สบาย

"นี่ไง” เขาว่าพร้อมกับกดไอคอนสีฟ้าในมือถือให้ดู "It’s so much better than Google Maps" มันเจ๋งกว่าแบบไม่เห็นฝุ่น

Waze เป็นแอพพลิเคชั่นนำทางคล้ายกับแผนที่กูเกิล จริงๆ ต้องบอกว่าเหมือนเลยล่ะ เพราะว่ากูเกิลซื้อไปจากนักพัฒนาแอพชาวอิสราเอลในปี 2013 แต่เป็นความเหมือนที่ไม่เหมือน

“I’m ready, let’s go!” เจ้าเวซ์บอกผมทุกเช้า ก่อนออกจากบ้านผมจะกดดูว่ามีเส้นทางใดให้เลือกบ้าง ซึ่งเวซ์จะแสดงผลทั้งแบบเสียค่าผ่านทาง แบบไม่เสีย ประมวลเวลาให้เสร็จสรรพว่าจะถึงกี่โมง รวมถึงแสดงจุดที่รถติด อุบัติเหตุ เส้นทางที่มีการปิดซ่อมแซม ฯลฯ

อ้าว ก็ไม่เห็นต่างอะไรจากโปรแกรมนำทางทั่วไป

สิ่งที่ต่างคือ Waze ใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบ Open Source จากผู้ใช้รถใช้ถนน ณ เวลานั้นๆ เลย ในขณะที่แผนที่กูเกิลลงทุนออกไปตระเวณเก็บข้อมูล ถึงขั้นไล่ถ่ายภาพจากหน้าบ้านทุกคน และพึ่งดาวเทียมในการตรวจวัดสภาพจราจร เวซ์ใช้วิธีง่ายๆ คือ ถามคนที่ใช้รถใช้ถนนอยู่นั่นแหละว่า ตอนนี้สภาพการจราจรแถวนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

“Alert : Car stopped in 400m” มันส่งเสียงเตือนผมว่า ข้างหน้ามีรถจอดข้างทางให้ระวัง ผมเอื้อมมือไปกด Like ให้กับผู้รายงาน ตัวเลขดีดขึ้นเป็น 12 คน

“Found a better way - follow me” เจ้าแอพจัดแจงเองเสร็จสรรพ “แยกขวา ออกทางพิเศษที่เพิ่งเปิด” เฮ้ย มันรู้ขนาดว่าบางทีช่วงเวลาเร่งด่วนตำรวจจะตั้งกรวยเปิดให้เราวิ่งสวนในเลนคนอื่นได้ เครื่องมืออื่นที่ใช้มาไม่เคยรู้ขนาดนี้

ความเจ๋งของ Waze คือ มันใช้ศักยภาพมหาศาลของคนที่มีมือถือทั่วเมือง นำมาประมวลเป็นทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกคน คิดง่ายๆ คือเหมือน จส.100 แต่เป็น จส. รุ่นเทพที่ไม่ต้องนั่งรอว่า เมือไรจะรายงานเส้นทางที่เราติดแหง็กอยู่

Waze คือตัวอย่างของนวัตกรรมแห่งยุค 4.0

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. Crowdsourcing หากคุณโหยหานวัตกรรม ลองคิดถึงข้อมูลใดที่โลกมีอยู่แล้วและสามารถ ‘เชื่อม’ มาใช้เลยได้บ้าง 

สังเกตว่าแอพต่างๆ ในโลกนี้ล้วนไม่ได้มีอะไรซับซ้อน หากความอัจฉริยะคือการขุดเอาข้อมูลที่มีอยู่แล้วออกมาใช้ เช่น Waze สร้างแพลตฟอร์มให้ประสบการณ์จริงของผู้ใช้รถใช้ถนนได้มาแชร์กัน ย่อยข้อมูลให้สะดวกต่อการนำไปปฏิบัติ กลายมาเป็นศักยภาพมหาศาล หรือ Grab ก็ประสบความสำเร็จถล่มทลายจากการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อคนที่ต้องการหารายได้ ผนวกกับรถดีๆที่คนมีอยู่แล้ว พร้อมระบบสกรีนนิ่งและฟีดแบ็คเพื่อสร้างบริการที่ดี ทำให้เขาเติบโตจนมีมูลค่าถึง 6,000 ล้านภายในเวลาเพียง 5 ปี

2. Just Enough, Just in Time, and Just for Me คือปรัชญาอันเป็นมิตรต่อสมอง 

Brain-Based Learning บอกว่าสมองมนุษย์นั้นขี้เกียจโดยธรรมชาติ  จึงชอบอะไรที่ พอคำ พอดี และพอ “me” สิ่งที่สิ้นเปลืองพลังงานสมองโดยใช่เหตุคือ การยัดเยียดข้อมูลให้มากมาย ในเวลาที่ยังไม่ได้ใช้ 

ปีนี้ผมกำลังทดลองนำหลักสูตรผู้นำสมอง Brain-BASEd Leadership ขึ้นแพลตฟอร์ม Udemy อยู่ ราคาเพียง 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 300 บาทนิดๆ ต่อหัว ผู้ที่สนใจอยากรู้ว่าสมองทำงานอย่างไร และการเข้าใจสมองช่วยทำให้เราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร สามารถเข้าถึงได้เมื่อต้องการจากทั่วโลก ตามเวลาที่สะดวก และแทรกเรียนได้ทีละ 7-8 นาที ไม่ต้องจัดเวลามานั่งฟังทั้งวัน

3. Think in 4.0 เปิดใจตัวเองต่อโลก Open Source กล้าคิด กล้าลอง กล้าวิเคราะห์ 

คำตอบที่ผมให้เพื่อนในรถวันนั้นคือ ไม่เอาล่ะ ไอสะดวกกับ Google Maps ดีอยู่แล้ว แต่พอหลงทางในเคแอลเข้าครั้งสองครั้งก็เลยลองใช้ Waze คราวนี้ไม่เปลี่ยนกลับไปอีกเลย ขนาดกลับกรุงเทพฯ ก็ยังเอาไปใช้ด้วย เพียงแต่ที่บ้านเรา Social ที่มาร่วมแชร์ยังเป็นกลุ่มน้อยอยู่ 5,000-6,000 คน ในขณะที่ที่นี่เปิดมาจะพบไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ข้อมูลจึงแน่นกว่า

สรุปสั้นๆ The Waze Forward สู่โลกยุค 4.0 คือ มองหาโอกาสการใช้พลังของมวลชน สร้างโซลูชั่นที่พอคำ พอดี และ พอ Me สำหรับผู้บริโภค สุดท้ายคือ ฝึกคนของคุณให้กล้าคิด กล้าลอง และกล้าวิเคราะห์ ครับ