ซูเปอร์บอร์ด ยุทธศาสตร์ชาติ

ซูเปอร์บอร์ด ยุทธศาสตร์ชาติ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ“ซูเปอร์บอร์ดยุทธศาสตร์”เป็นที่เรียบร้อย

นอกเหนือไปจากกรรมการโดยตำแหน่งที่มีนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธาน พร้อมรองประธาน 3 คน และบรรดาผู้นำเหล่าทัพ

เป็นการแต่งตั้ง 12 ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ จากกรอบ 17 ตำแหน่ง ที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

เพราะ“เปิดรายชื่อ”ออกมาแล้ว ก็ดูเสมือนเป็นครม.ฉบับย่อของรัฐบาล

แม้ว่าจะมีชื่อเอกชนที่ติดโผเข้ามาด้วย แต่ก็เป็นบุคคลที่รัฐบาล“ใช้บริการ”และถูกเอ่ยชื่อจนหน้าช้ำ

จึงยังมองไม่เห็นความแปลกใหม่ หรือก้าวไปข้างหน้ามากกว่าที่มีการบริหารกันอยู่ในปัจจุบัน

โดยเฉพาะเรื่องสำคัญของบ้านเมืองในอนาคตก็จะถูกกำหนดโดยคนหน้าตาเดิมๆ

นายกรัฐมนตรี ให้เหตุว่าที่ยังเว้นที่ว่างไว้ 5 ตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้คนดีมีฝีมือเข้ามาทำงาน และต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพราะมีผู้เสนอตัวเข้ามามาก

ขณะที่อีกด้านมีข้อมูลว่ารัฐบาลพยายามทาบทามนักวิชาการเข้าร่วมทีม

เพื่อลดโทนความเป็นกรรมการทหาร ที่มีทั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน

แต่จนล่าสุดก็ยังไม่มีใครกล้าตอบรับ เพราะกังวลต่อบทบาทและอิสระในการทำงาน 

รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

รายชื่อที่ปรากฎออกมาขณะนี้สะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลเคยบอกว่าพร้อมเปิดทางให้ทุกฝ่าย รวมทั้งภาคการเมืองเข้าร่วมทีมไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง

น่าจะเพราะรัฐบาลยังไม่ไว้ใจใครและไม่ไว้ใจสถานการณ์ อนุมานจากการไม่ปลดล็อคให้การเมืองเคลื่อนไหว

ขณะเดียวกันกระแสข่าวปรับครม.ที่มีออกมาเป็นระยะ และล่าสุดเหมือนจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

หากเกิดขึ้นจริงก็อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะรัฐบาลยัง"ไม่เปิดกว้าง

แม้นายกฯ จะยืนยันว่าการแต่งตั้งทั้งหมดไม่ใช่“การสืบทอดอำนาจ”

แต่การเลือกที่จะเชื่อของประชาชนคงพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะ“ข้อมูลเชิงประจักษ์”

ที่แน่นอนว่ามีน้ำหนักมากกว่าเพียงแค่คำพูด !!!