เรื่องหนักอกของผู้นำในเอเชีย

เรื่องหนักอกของผู้นำในเอเชีย

ตำแหน่งของผมที่ Iclif Leadership and Governance Centre คือ Director of Research and Curriculum

แม้หน้าที่หลักยังคงคล้ายเมื่ออยู่ไทย นั่นคือการยืนสอนหน้าห้อง โค้ชชิ่งและทำงานโปรเจคกับลูกค้าจากหลากองค์กรนานาประเทศ หากสิ่งหนึ่งที่ได้ทำเยอะขึ้นคืองานด้าน Research 

วันนี้ ขอนำข้อมูลล่าสุด Human Capital Consulting Survey มาฝากครับ ใครสนใจดูแบบ infographic สามารถดึงได้ที่ http://iclif.org/wp-content/uploads/2017/07/HCC-Infographic-FAV19July2017.pdf ผลงานของ Paul Surprenant และ Michele Sagan เพื่อนร่วมงานผมเอง

เราสำรวจความคิดเห็นของผู้นำใน 17 อุตสาหกรรมจาก 18 ประเทศทั่วเอเชียด้วยคำถามง่ายๆ “คุณคิดว่าเรื่องต่อไปนี้ สำคัญ ต่ออนาคตองค์กรคุณเท่าใด และคุณ ทำได้ดีเท่าใดในปัจจุบัน

1. หัวข้อที่น่าห่วงที่สุด : Values-Based Leadership ชื่อเต็มของ Iclif คือ Leadership and Governance Centre เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาผู้นำและการสร้างธรรมาภิบาลต้องไปด้วยกัน 

ผู้นำที่โลกต้องการไม่ใช่แค่เก่งแต่ต้องเป็นคนดีด้วย ข่าวดีคือ 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า องค์กรให้ความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างผู้นำแบบนี้ แต่ข่าวร้ายคือมีเพียง 36% ที่พูดอย่างเต็มปากว่า ผู้บริหารของเขาไว้วางใจได้เรื่องความดี แล้วอีก 64% แปลว่าอะไร 

ผมตั้งชื่อว่าหัวข้อที่น่าห่วงที่สุดเพราะ Gap นี้ห่างเป็นอันดับต้นๆของทุกหัวข้อ

2. น่าห่วงตามมาติดๆ : Organization Culture เรื่องต่อมาที่ได้รับการโหวตความสำคัญเกือบ 100% คือวัฒนธรรมองค์กร 

ผู้ให้ข้อมูลเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นบอกว่า สามารถสร้างค่านิยมร่วมของสมาชิกในระดับที่พอใจ ส่วนที่เหลือยังรู้สึกว่าแก่นของคนรอบตัวไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  

ประเด็นซึ่งผู้บริหาร HR เป็นห่วงหนักคือโลก 4.0 ยิ่งเพิ่มความยากของการสร้างวัฒนธรรม เพราะเด็กรุ่นใหม่มาไว เคลมไว ไปไว ไม่รู้จะมีเวลาตอนไหนไปปลูกฝัง Values ขององค์กร

3. ปัญหาโลกแตก : Succession Pipeline นี่คือเรื่องหนักอกที่สุดขององค์กรในเอเชีย มีเพียง 4 ใน 10 คนที่บอกว่าองค์กรของตนทำตรงนี้ในระดับพอใช้ 

ผมได้เห็นปัญหานี้ตั้งแต่สมัยทำงานกับองค์กรไทย พอออกมา Out-of-Thailand จึงได้เรียนรู้ว่าเพื่อนบ้านต่างๆของเราก็มีปัญหานี้เช่นกัน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน  เวียดนาม 

สมมติฐานของผมคือคนเอเชียมักใช้ระบบพ่อปกครองลูก พี่ปกครองน้อง ข้อดีคือมีคนปกป้องดูแลตัดสินใจให้ไปจนโต แต่ข้อเสียคือตอนพ่อแม่ใกล้หมดแรงแล้วแต่ลูกยังไม่พร้อม ทว่าคนไทยเราอาจโดนสองเด้ง เพราะไม่พร้อมทั้งการรับไม้ต่อ และไม่พร้อมทั้งทางด้านภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมสากล

4. เทรนด์ฮิตที่มาแรง: Employer Proposition หัวข้อที่พุ่งพรวดขึ้นมาในปีนี้ คือ ศึกชิงนางแย่ง Talent ขององค์กร

ส่วนมากใช้กลยุทธ์การสร้าง Employee Experience ให้ดีที่สุด เรียกง่ายๆคือพยายามดูแลให้พนักงานทำงานแล้วมีความสุข ได้สภาพแวดล้อมในออฟฟิศที่ดี มีอุปกรณ์ครบครัน สามารถมีอิสระในการทำงานพอสมควร สร้างเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

หากคุณเป็น 3 ใน 10 องค์กรที่ยังทำเรื่องนี้ได้ไม่ดีจงพึงระวัง เพราะสมองแจ๋วๆของคุณกำลังจะไหลไปหาที่ทำงานอีก 70% ที่โฟกัสตรงจุดนี้อย่างจริงจัง

ใครสนใจประเด็นนี้อยากศึกษาเพิ่มเติม Iclif กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ Open Source Leadership: Reinventing Management When There’s No More Business As Usual โดยสำนักพิมพ์ McGraw-Hill ซึ่งจะเปิดตัวเดือนต.ค.นี้ หลากหลายไอเดียในนั้น กล่าวถึงการดูแลผู้นำในยุค Open-Source 4.0

ส่วนตัวที่ผมชอบมากคือเรื่อง Minimum Supervision; Maximum Performance ยิ่งปล่อยยิ่งเลิศ กล่าวถึงการให้อิสระคนในองค์กรทำงานอย่างเถ้าแก่น้อย ขอเพียงเรามีเป้าหมายและค่านิยมตรงกัน เทคโนโลยีจะช่วยให้ผลงานเกิดขึ้นโดยไม่ต้องสนใจว่าเจ้าตัวตอกบัตรเข้างานหรือเปล่า

5. หัวข้อที่ผมยังไม่เห็นด้วย : Build Workforce Diversity หัวข้อนี้ได้คะแนนความสำคัญน้อยที่สุดจากทั้งสิบเรื่อง แถมผู้ประเมินบอกว่าปัจจุบันทำได้ดีเกือบสมบูรณ์แล้ว 

แต่ผมคิดว่าเราอาจยังวางใจไม่ได้ว่าข้อมูลนี้สะท้อนความเป็นจริง ดูตัวชี้วัดง่ายๆจาก Creativity and Innovation สมองใช้ความหลากหลายของประสบการณ์เป็นฐานของการสร้างความคิดใหม่ๆ ดังนั้นหากเรามีความหลากหลายในที่ทำงาน และเปิดใจให้กับความหลายหลายเหล่านั้นจริง องค์กรต่างๆควรมีสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกออกมาเต็มไปหมด 

ขนาดผมเองทำงานอยู่ในองค์กรที่มีความเป็นสากล แต่ก็รู้สึกได้ว่าคนเอชียต้องทำงานหนักกว่าฝรั่ง เขาพูดทีเดียวคนเชื่อ เราต้องพูดสองสามทีจึงจะเห็นด้วย

องค์กรของคุณผู้อ่านล่ะครับ ได้คะแนนกันอย่างไรบ้าง เล่าสู่กันฟังได้นะครับ