สานฝันนายก :ความท้าทายของประเทศไทยด้านความมั่นคงทางพลังงาน

สานฝันนายก :ความท้าทายของประเทศไทยด้านความมั่นคงทางพลังงาน

เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพลังงานว่าแหล่งพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

ธุรกิจด้านพลังงานอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน พลิกโฉมไปสู่ภูมิทัศน์ (Landscape) ใหม่ และเป็นโอกาสที่จะไปสู่ความพอเพียงด้านพลังงาน (Energy Self-Sufficiency) ในอนาคต

สิ่งต่างๆ ค่อยๆ เริ่มทยอยปรากฏให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น ต้นทุนพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ที่ลดลงอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไป ยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนมากขึ้น ผู้ผลิตยานยนต์ปรับทิศทางหันหัวมุ่งไปสู่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ระบบไฟฟ้าเป็นแบบสมาร์ทไมโครกริด (Smart Micro Grid)

แรงขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางดังกล่าวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนแท้จริงพื้นฐาน ได้แก่ ความมั่นคง ประสิทธิภาพ ต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ท้าทายในการพัฒนาประเทศ แนวคิดสำคัญในอดีตคือแนวคิดเชิงขนาด (Scale) โดยการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) มักจะสะท้อนถึงความมั่นคงสูง ประสิทธิภาพสูง และต้นทุนต่ำ แต่ปัจจุบันแนวคิดเชิงพื้นที่ (Geography) มีบทบาทความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยองค์ประกอบของพื้นที่ คือ ตำแหน่งที่ตั้ง และลักษณะสภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ในอดีตตำแหน่งของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลนอกเมือง ตามแหล่งเชื้อเพลิง เช่น น้ำ ถ่านหิน เป็นต้น เมื่อผลิตไฟฟ้าแล้วจะส่งผ่านโครงข่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้า เช่น พื้นที่เมือง พื้นที่ธุรกิจการค้า พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer) รวมทั้งจากพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ

แนวนโยบายและการกำกับดูแลพลังงานทดแทนของภาครัฐในยุคแรกเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralization) ครอบคลุมพื้นที่วงกว้าง (Wide Area) ปัจจัยหลักที่ภาครัฐพิจารณาพื้นที่อนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าในยุคแรก คือ ศักยภาพของเชื้อเพลิงและขีดความสามารถของโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) ปัจจุบันภาครัฐปรับเพิ่ม Competitive Bidding เพิ่มระดับความพึ่งพาได้ (Firm) และสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ยุทธศาสตร์

อย่างไรก็ตามแนวนโยบายและการกำกับดูแลดังกล่าวไม่สะท้อนสภาพตลาดในปัจจุบันที่มีความต้องการจะผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก

ผลที่คาดจะเกิดขึ้นจากนโยบายและการกำกับดูแลในปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายผลประโยชน์ไปสู่ผู้ประกอบการเอกชน โดยที่ภาระต้นทุนหลายอย่าง รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะยังคงอยู่หรือถูกผลักให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้ายังคงต้องจ่ายไฟฟรีกรณีที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย ยังคงต้องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลซึ่งมีต้นทุนแพงเพื่อจ่ายค่าไฟในเกิดวิกฤติพลังงานในบางพื้นที่บางฤดูกาล เช่น เกาะสมุย และยังคงต้องดำเนินการขาดทุนในพื้นที่ชนบทห่างไกล

แนวนโยบายและการกำกับดูแลที่ควรจะเป็นในปัจจุบันคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดพลังงานไฟฟ้า ด้วยการเพิ่มความคล่องตัว และเพิ่มความเป็นอิสระเสรี (Liberalization) ขณะเดียวกันลดการกำกับดูแล (Deregulation) เพื่อยกระดับให้เป็นตลาดพลังงานไฟฟ้าที่มีความเสรีและยุติธรรม (Free and Fair Market) มากยิ่งขึ้น

แนวนโยบายและการกำกับดูแลของภาครัฐควรอยู่บนพื้นฐานแนวคิดแบบบูรณาการ Decentralization Localization และความพอเพียงด้านพลังงาน (Energy Self-Sufficiency) โดยบูรณาการศักยภาพเชิงพื้นที่ ทั้งด้านอุปทานความประสงค์ที่จะผลิตไฟฟ้า (Supply) คือ เชื้อเพลิงในพื้นที่ ด้านอุปสงค์ความต้องการไฟฟ้า (Demand) คือ ความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ และราคา (Price) สะท้อนต้นทุน รวมทั้งการกระจายไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นแบบสมาร์ทไมโครกริด (Smart Microgrid)

แนวคิดดังกล่าวนี้แตกต่างจากแบบรวมศูนย์ในอดีต ซึ่งให้ความสำคัญและพิจารณา Grid Capacity ระดับสายส่งของ กฟผ. โดยมีบางคนจินตนาการว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กๆ เช่น ขนาด 1-2 เมกกะวัตต์ ที่ผลิตในพื้นที่ภาคเหนือจะถูกส่งผ่านสายส่ง (Transmission Line) ไปยังพื้นที่ภาคใต้ จึงปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนว่าสายส่งมีขีดความสามารถไม่เพียงพอที่จะรองรับการซื้อขายไฟฟ้าจากแหล่งไฟฟ้าขนาดเล็กๆ เหล่านั้นได้

หน่วยงานภาครัฐ กพช. กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด คือ สนพ. พพ. กกพ. กฟผ. รวมทั้ง กฟน. กฟภ. ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย จะต้องปรับบทบาทพันธกิจหน้าที่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) อย่างแท้จริง

ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องมีอิสระเสรีในการเข้าสู่หรือออกจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มีอิสระเสรีที่จะเลือกพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ผู้ผลิตไฟฟ้ามีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องควบคุมคุณภาพไฟฟ้า ต้องป้องกันผลกระทบไม่ให้เกิดต่อโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ และต้องแข่งขันราคากับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นๆ รวมทั้ง กฟผ. ซึ่งปัจจุบันนี้ กฟผ. มีสิทธิจัดหาเชื้อเพลิงและแก๊สเพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้า โดยไม่ถูกบังคับให้ซื้อจาก ปตท. เหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป

การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ กฟน. และ กฟภ. ต้องมีสิทธิอย่างเสรีที่จะจัดหาหรือเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่เสนอขายไฟฟ้าในราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อให้มีโอกาสในการบริหารต้นทุนการจัดหาพลังงานไฟฟ้า ไม่ถูกบังคับให้ซื้อจาก กฟผ. และไม่ถูกบังคับให้ “ซื้อถูก ขายแพง” ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่ง “ซื้อถูก ขายแพง” เป็นควรเป็นกลไกในยุคแรกของการส่งเสริมพลังงานทดแทนเท่านั้น

ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามีอิสระ (Freedom) มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นที่จะเลือกซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายหรือเลือกผลิตไฟฟ้าใช้เอง มีโอกาสที่จะบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น มีโอกาสที่จะเป็นทั้งผู้ผลิตและขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าหากเสนอราคาที่ต่ำสุด รวมทั้งควรมีโอกาสเลือกซื้อไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมที่ตนเองต้องการ

นอกจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สิ่งที่รัฐจะต้องริเริ่มให้มีหน่วยงานระดับปฏิบัติการ คือ ตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Electricity Exchange Market)

ถ้านักกลยุทธ์ของรัฐบาลต้องการสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มั่นคงระดับชุมชน มั่งคั่งอย่างทั่วถึง และยั่งยืน ก็ต้องปฏิรูปเพื่อสร้างระบบตลาดพลังงานไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ตามเหตุและปัจจัย กระจายพลังอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ลดการรวมศูนย์เพื่อวางแผน ควบคุมและกำกับดูแล และส่งเสริมสนับสนุนให้กลไกอุปสงค์ อุปทาน และราคา ร่วมกันทำงานเพื่อกำหนดดุลภาพของตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ 

////////

โดย ธงชัย มีนวล [email protected]

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ผูกพัน และไม่ใช่ในนามของพนักงาน PEA