โรงไฟฟ้าขนอมและโครงการตามพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9

โรงไฟฟ้าขนอมและโครงการตามพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9

วิต คือ การเดินทางครับ ผมมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขนอมและโครงการลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

กับคณะ Thai Intelligent Investors หรือ TIIP ของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักที่จะเยี่ยมชม แนวทางการบริหารสิ่งแวดล้อมของ โรงไฟฟ้าขนอม และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ 9

โรงไฟฟ้าขนอม โดย บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด หรือ บฟข. ในเครือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กล่าวคือ เป็นเครื่องกังหัน (Gas Turbine) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและจากการผลิต ก๊าซที่ใช้หมุนกังหันยังมีความร้อนเหลืออยู่มาก จึงนำไปต้มน้ำให้เป็นไอน้ำและนำไอน้ำไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อีกเครื่องหนึ่ง

กำลังการผลิตของ บฟข. เป็นขนาด 2x485 เมกะวัตต์ (รวม 970 MW) ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักโรงหนึ่งของภาคใต้ จากการบรรยายของ คุณสืบศักดิ์ ชูฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการของ บฟข. โรงไฟฟ้าขนอมเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2524 โดยเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรก ที่สร้างโรงไฟฟ้าสำเร็จรูปจากประเทศญี่ปุ่น ใช้เรือลากจูงข้ามมหาสมุทรมาที่ปากแม่น้ำขนอมและขุดร่องน้ำนำโรงไฟฟ้าทั้งโรงเข้าที่ตั้ง เพื่อตอบสนองกับวิกฤตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในยุคนั้น

 โรงไฟฟ้า โรงปัจจุบันเป็นโรงที่ 4 (แทนที่ 3 โรงแรกซึ่งใช้งานเต็มที่และหยุดใช้งานไปแล้ว) ซึ่งเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 19 มิ.ย. 2559 การดำเนินงานปัจจุบันเป็นการบริหารโดย บฟข. โดยมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เป็นเวลา 25 ปี โรงไฟฟ้าที่ 4 นี้ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหม่และทันสมัยที่สุด จากบริษัท Mitsubishi Hitachi Power และเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เชื้อเพลิง บฟข.ต่อท่อใต้ทะเลซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซของ ปตท.ในอ่าวไทยและมีโรงแยกก๊าซของตนเอง นำก๊าซธรรมชาติที่ได้มาใช้ ทั้งนี้ในด้านกำลังผลิต บฟข. ยังมีกำลังผลิตในการแยกก๊าซพอที่จะใช้กับโรงไฟฟ้าเพิ่มได้อีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ จึงถือเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่มีขนาดพอสมควรหากมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมสำหรับภาคใต้ในอนาคต

ในด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริหาร บฟข. ได้ชี้แจงถึงการบริหารมลพิษจากโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า โดยแจ้งว่า มลพิษทุกตัวจากการผลิตและปล่อยสู่บรรยากาศมีปริมาณต่ำกว่าข้อกำหนดสูงสุดของทั้งกฎหมายไทยและข้อกำหนดสากล รวมทั้งมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ส่วนด้านน้ำเสียจากระบบและน้ำหล่อเย็นก็มีการบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนจะปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งได้รับการยอมรับจากชุมชนรอบๆโรงไฟฟ้าว่าอ่าวขนอมยังมีสัตว์น้ำธรรมชาติชุกชุม รวมทั้งฝูงโลมาสีชมพู ประมาณ 90 ตัวในอ่าว ซึ่งคณะของเราหลายคนที่มีโอกาสนั่งเรือไปชมในเช้าวันที่ 2 ก.ค. ก็ได้ชมด้วยความตื่นตาตื่นใจ

นอกจากนั้น บฟข.ก็ดูเหมือนดำเนินการด้านชุมชนสัมพันธ์ได้อย่างดี โดยนอกจากการสร้างงานและกระตุ้นเศรษกิจในพื้นที่ ยังมีการดำเนินการด้านส่งเสริมอาชีพและการส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่องจริงจังหลายโครงการ จึงนับว่าเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดำเนินการด้านการรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีและน่าชื่นชม

หลังจากการเยี่ยมชม บฟข. พวกเราก็ได้เดินทางต่อไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพ่อหลวง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นโครงการที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.2 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัดได้แก่ 10 อำเภอในนครศรีธรรมราช 2 อำเภอของพัทลุงและ1 อำเภอในจังหวัดสงขลา มีประชากรประมาณ 2 แสนครอบครัว กว่า 5 แสนคน มีการทำนากว่า 4 แสนไร่ ถือเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคใต้มาตั้งแต่อดีตกาล

คุณศุภชัย อักษรวงศ์ หัวหน้าศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เล่าปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ นับตั้งแต่ป่าถูกทำลาย น้ำจืดขาดแคลน น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและแม่น้ำสาขาเกือบ 100 กิโลเมตร ดินมีสารไพไรท์มีสภาพเป็นกรด น้ำเปรี้ยว รวมทั้งมีน้ำเน่าเสียจากการทำนากุ้งไหลลงในลำน้ำจนไม่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่ได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวนาข้าวและชาวนากุ้งอีกด้วย แถมมีปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมีปริมาณฝนตกมาก แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มราบแบน มีความลาดชันน้อย อุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ยาก จึงทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่วยเหลือราษฎรหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้พระราชทาน พระราชดำริเพิ่มเติมความว่า

“...ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า เป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มและสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร... แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง หากแต่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด จากอันนี้จะทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และแยกออกมาเป็นโครงการฯ...”

โดยรวมแล้วโครงการตามพระราชดำริได้ดำเนินการ 1. สร้างประตูระบายน้ำปากพนัง เรียกว่า ประตูระบายน้ำ อุทกวิภาชประสิทธิ 2. แก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการขุดคลองระบายน้ำและประตูระบายน้ำ 3. กำหนดแนวเขตแยกพื้นที่น้ำจืดและพื้นที่น้ำเค็มออกจากกัน 4. ก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและฝายทดน้ำ 5. วางระบบการระบายน้ำเสียจากนากุ้ง น้ำเปรี้ยวจากพรุ และน้ำเสียจากชุมชน 6. ก่อสร้างคลองลัดเชื่อมแม่น้ำปากพนังสู่อ่าวไทยด้านท้ายประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ 7. ให้รักษาพื้นที่ป่าพรุ ซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติเดิม

หลังการบรรยาย หัวหน้าศุภชัยได้นำคณะเยี่ยมชมพื้นที่ในโครงการหลายแห่ง รวมทั้งแวะเยี่ยมเกษตรกรหลายรายที่ต่างมีขีวิตที่ดีขึ้นจากโครงการในพระราชดำรินี้ ซึ่งทำให้คณะของพวกเราต่างรู้สึกซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ต่อพสกนิกรไทย ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฎิบัติเป็นกิจวัตรโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากลำบากส่วนพระองค์ นับเป็นบุญแก่พวกเราชาวไทยเป็นล้นพ้น

 //////////////////

โดย บรรจง จิตต์แจ้ง

ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย