จากเทียนไขสู่ธุรกิจดิจิทัล

จากเทียนไขสู่ธุรกิจดิจิทัล

ทอมัส เอดิสัน คงกลุ้มใจไม่น้อยเมื่อพบว่าหลังจากยุคที่ไฟฟ้าแพร่หลายจนไฟส่องสว่างของบ้านเกือบทุกหลัง ล้วนมาจากหลอดไฟที่เป็นผลงานของเขา

แต่พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนในยุคนั้นยังคงจุดเทียนเพื่ออ่านหนังสือกันเหมือนเดิม

เมื่อพิจารณาว่าเพราะเหตุใดผู้คนถึงยังคงอาศัยแสงไฟจากเทียนไขแทนที่จะเป็นหลอดไฟฟ้าของเอดิสัน ซึ่งทั้งสว่างกว่า ให้แสงสว่างสม่ำเสมอกว่า ก็พบว่ามีเพียง “ความคุ้นเคย” เท่านั้นที่เทคโนโลยีไม่อาจทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลย

น่าแปลกใจที่เวลาผ่านมากว่าร้อยปีแล้ว เราก็ยังคง “อ่านหนังสือกันด้วยเทียนไข” เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมเช่นนั้นจริงๆ แต่เป็นการเปรียบเปรยถึงการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลอันทันสมัยแต่กลับมีพฤติกรรมการทำงานแบบดั้งเดิมที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก

หากเราย้อนยุคกลับไปถามคนเหล่านั้นในอดีตว่ารู้จักหลอดไฟไหม เขาก็คงตอบว่า “รู้” แต่หากถามว่าจะใช้หลอดไฟอ่านหนังสือไหม เขาก็จะตอบว่า “ไม่” เพราะใคร ๆ ก็อ่านหนังสือด้วยเทียนไขมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับการถามคนในยุคนี้ว่ารู้จักเทคโนโลยีสมัยใหม่ รู้จักโมบายแอพ รู้จักการสื่อสารแบบ 4G ไหม ฯลฯ เขาก็คงตอบว่า “รู้” แต่ทำไมถึงไม่เอามาประยุกต์ใช้กับงานของตัวเอง ก็คงได้คำตอบที่ไม่ต่างจากคนในยุคร้อยกว่าปีที่ผ่านมาสักเท่าไร

บางครั้งเราพยายามมองปัญหาที่เทคโนโลยีไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่เราคิด ซึ่งมักจะเพ่งความสนใจไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีว่าพอเพียงหรือยัง หรือไม่ก็ต้องดูกันที่ระบบสื่อสารกับผู้ใช้ว่ายากเกินไปหรือไม่

แต่ปัญหาที่แท้จริงอาจอยู่ที่ “พฤติกรรม” ของผู้ใช้ที่ยังคงเคยชินกับการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ และไม่อยากปรับเปลี่ยนการทำงานใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะคิดว่า “ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว” แต่ไม่ได้มองความเป็นไปของโลกว่าระบบดิจิทัลจะเข้ามาช่วยให้งานทั้งหลายเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ง่ายและเร็วขึ้นอีกมหาศาล

พฤติกรรมเหล่านี้เองขัดขวางให้การเข้าสู่ยุคดิจิทัลช้ากว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกภายนอกนั้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เราคาดคิด และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้จำกัดแค่แวดวงเทคโนโลยี

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือธนาคารและสถาบันการเงิน ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนโฉมไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งเริ่มให้ได้มากขึ้นในบ้านเรา แต่ยังช้ามากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ผมเคยยกตัวอย่างของ We Bank ที่เติบโตมาจากฐานลูกค้า We Chat และมีจำนวนลูกค้ากว่าร้อยล้านคนได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี

การจับจ่ายใช้สอยของคนจีนในทุกวันนี้จึงเริ่มเข้าสู่ยุค Cashless Society กันแล้วเพราะประสบการณ์ส่วนตัวผมเมื่อทานอาหารหรือจับจ่ายใช้สอยในประเทศจีนจะถูกพนักงานถามทุกครั้งว่ามี Alipay หรือ WeChat Pay ไหม

บริการเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นการชำระเงิน แต่ยังขยายตัวไปสู่การให้สินเชื่อรายย่อยซึ่งทั้ง Alibaba และ Tencent เจ้าของ WeBank สามารถทำรายได้จากธุรกิจนี้มากมายมหาศาลโดยไม่ต้องพึ่งพาบริการของธนาคารและสถาบันการเงินเลย เช่นเดียวกับ Apple Pay, Samsung Pay และยังมีเจ้าอื่น ๆ อีกมากที่กำลังเข้าสู่สมรภูมินี้ 

นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับตัวครั้งใหญ่ของธนาคารในบ้านเราที่มองเห็นทั้งวิกฤติและโอกาสที่เกิดขึ้น