การประเมินเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

การประเมินเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

มาเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่างก็นำเอา SEP มาเป็นหลักคิดเพื่อสร้างแนวทางการทำงานในบริบทของตนเอง นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยรับเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ก็ทำให้เห็นว่าทั้ง SEP และ SDGs มีแนวทางที่สอดคล้องกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า SDGs มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 จึงทำให้สามารถขับเคลื่อน SDGs ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้

ในการประเมินความสำเร็จของการพัฒนา จำเป็นจะต้องมีระบบการประเมินของประเทศ (National Evaluation System) เพื่อให้ทราบว่าประเทศมีความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายแต่ละเรื่องอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการประเมิน นอกจากจะทำให้ทราบถึงความก้าวหน้าแล้ว ยังเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงการทำงาน การสร้างความรับผิดชอบต่อผลงาน (Accountability) และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล (Evidence-Based Policy)

เสาหลักของระบบการติดตามและประเมินของประเทศมีอยู่ 6 องค์ประกอบด้วยกัน คือ 1) วิสัยทัศน์ของผู้นำที่เห็นความสำคัญของการประเมินเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ 2) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประเมิน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในประเทศให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้

3) เจตจำนงทางการเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการดำเนินนโยบาย ให้มีการประเมินผลของนโยบายตามหลักวิชาการ เป็นกลาง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแท้จริง 4) สมรรถนะทางเทคนิคของการติดตามและประเมินผล (Monitoring and Evaluation หรือ M&E) ซึ่งนอกจากจะหมายถึงทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการแล้ว ยังหมายถึงความรู้ความชำนาญของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

5) สมรรถนะในการร้องขอและใช้ประโยชน์จากข้อมูล หากมีความต้องการใช้ข้อมูลจากการประเมิน และผู้ใช้ข้อมูลทราบว่าจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอย่างไร 6) ความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการติดตามและประเมินผล ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานในการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ แหล่งข้อมูลที่จำเป็น ตลอดจนถึงการสนับสนุนเชิงนโยบายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ล้วนแต่มีสำคัญต่อการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลของประเทศ

จากการศึกษาของ UNDP ใน 43 ประเทศ พบว่า ขีดความสามารถในการประเมินของประเทศ (National Evaluation Capacity) ขึ้นอยู่กับ

  1. นโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินการของประเทศ
  2. การจัดรูปแบบเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการประเมิน และมีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดมีหน้าที่ในการประเมิน รวมถึงการสนับสนุนที่ควรได้รับจากหน่วยงานอื่น
  3. ความต้องการใช้ประโยชน์จากผลการประเมินเพื่อการพัฒนา
  4. ความเชี่ยวชาญของผู้ประเมินและทรัพยากรที่ใช้ในการประเมินมีเพียงพอให้เกิดการประเมินที่มีคุณภาพได้
  5. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  6. การให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความไม่เท่าเทียมกันและการมีส่วนรวมของทุกกลุ่ม
  7. บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการพัฒนากำลังคน

สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้จัดทำข้อมูลพื้นฐาน (Fundamental Statistics) เพื่อสนับสนุนการประเมินผลการดำเนินการ

นอกจากภาครัฐ และภาคเอกชนแล้ว กำลังสำคัญในการทำงาน คือ ภาคประชาสังคมซึ่งโดยลักษณะงานแล้วเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของ SDGs เช่น การทำงานของมูลนิธิมั่นพัฒนาในฐานะของคนกลางและเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (Enabler and Facilitator) การทำงานของโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move Thailand) กับภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ เป็นต้น

ข้อมูลจากโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนระบุว่าช่วงเดือนส.ค. 2559 ถึงเดือนพ.ค. 2560 ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีการจัดประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์กรหรือหน่วยงานจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 592 ครั้ง

ประเด็นหลักที่จำเป็นต่อการยกระดับระบบการประเมินของประเทศให้ดีขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมการรับผิดชอบต่อผลงาน (Accountability) มีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการมีแนวคิดในการตั้งหน่วยงานที่เป็นอิสระตามโครงการเพื่อจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา เพื่อให้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์ทางการคลัง นอกจากนี้แล้ว จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการติดตามและประเมินผลให้เป็นวิชาชีพอย่างจริงจัง หากมีการพัฒนาในประเด็นเหล่านี้ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว