มหาวิทยาลัยกับบทบาทของ “กรรมาชีพวิชาการ”

มหาวิทยาลัยกับบทบาทของ “กรรมาชีพวิชาการ”

มหาวิทยาลัยถือเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทหน้าที่หลากหลาย ที่เห็นชัดเจนคือ มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งแห่งการศึกษาเรียนรู้เพื่อเติมเต็มศักยภาพ

ทางปัญญา แต่ในบางครา มหาวิทยาลัยก็มีบทบาทที่เกี่ยวพันกับมิติทางการเมืองในการเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐ (เช่น อุดมการณ์เศรษฐกิจ 4.0 หรือ อุดมการณ์โตไปไม่โกงของรัฐบาล เป็นต้น)

นอกจากนี้ อีกบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่เริ่มเด่นชัดและมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ คือ การดำเนินการแบบธุรกิจการศึกษา นั่นเพราะว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยและหลักสูตรต่างๆมากมาย ในขณะที่ตัวเลขผู้สอบแอดมิชชั่นลดลงเรื่อยๆ (ยอดผู้สมัครในปีปัจจุบันน่าจะต่ำที่สุดในประวัติการณ์ที่ 81,230 คน)

สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในการหานักศึกษาเพิ่มด้วยการปรับปรุงหลักสูตรให้น่าสนใจมากขึ้น นั่นเพราะว่าตัวเลขนักศึกษาที่ลดลงย่อมนำมาสู่ภาวะที่รายจ่ายมากกว่ารายได้และอาจมีผลทำให้คณะหรือหลักสูตรต้องปิดตัวลง ซึ่งภาวะความกดดันดังกล่าวรวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐด้วยเช่นกัน ที่ปัจจุบันบริหารงานแบบ “ออกนอกระบบ” กล่าวคือ คณะจำเป็นต้องอยู่ได้โดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐให้น้อยที่สุด ทำให้แต่ละคณะต้องมีแผนการบริหารทรัพยากรและการเงินเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงจากการขาดทุน

ท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่ทำให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่ความเป็นองค์กรธุรกิจนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยถือเป็นกลไกสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ ซึ่งถ้าหากพิจารณาด้วยกรอบคิดเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซ์ เราพบว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมีอัตลักษณ์ทางชนชั้นไม่ต่างไปจากชนชั้นกรรมาชีพ (ถึงกระนั้น ต้องเข้าใจว่าอาจารย์ถือเป็นกรรมาชีพที่อาจมี เงินเดือน สถานะทางสังคม และสภาพการทำงาน ที่ต่างจากกรรมาชีพประเภทอื่นๆ) ในแง่ที่ว่าพวกเขาเป็นกลไกสำคัญที่สร้าง “มูลค่าส่วนเกิน” (surplus value) ในกระบวนการผลิต “สินค้าวิชาการ” และมูลค่าส่วนเกินนี้ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของสถาบันการศึกษาด้วย

ตามหลักคิดของเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซ์ มูลค่าส่วนเกินสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการผลิตเกิดขึ้น และในกระบวนการผลิตนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพลังแรงงาน (labour power) เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสินค้า ในการแปรเปลี่ยนสภาพจากวัตถุให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาด ซึ่งในกรณีของมหาวิทยาลัยเราสามารถบอกได้ว่า “หลักสูตร” และ/หรือ “รายวิชา” ถือเป็น “สินค้าวิชาการ” ที่ซื้อขายกันในตลาด และพลังแรงงานที่ต้องพูดถึงคือเป็นพลังแรงงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นเอง

กล่าวคือในการผลิตรายวิชาและหลักสูตรต่างๆ นั้น อาจารย์ต้องใช้พลังแรงงานในการร่างหลักสูตร เตรียมสอน บรรยาย จัดกิจกรรมในชั้นเรียน ทำการสอบและการประเมิน ฯลฯ ซึ่งภารกิจต่างๆเหล่านี้กินชั่วโมงการทำงานทั้งสิ้น และรูปธรรมของพลังแรงงานนี้สามารถพิจารณาผ่านมูลค่าใช้สอย (use value) และมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange value)

โดยมูลค่าใช้สอยของรายวิชาต่างๆ ได้แก่ ความรู้และทักษะที่ได้รับในแต่รายวิชา จำนวนหน่วยกิตที่ได้รับเมื่อสำเร็จรายวิชา ประโยชน์จากรายวิชาที่อาจนำไปใช้ในการทำงานในอนาคต (ทั้งรับจ้างและธุรกิจส่วนตัว) โดย “ค่าลงทะเบียน” ถือเป็นตัวแทนของมูลค่าแลกเปลี่ยน สะท้อนถึงรูปธรรมแห่งสินค้าวิชาการที่มีการซื้อขาย เพื่อให้มหาลัยสามารถแปรเปลี่ยนมูลค่าส่วนเกินของอาจารย์ให้กลายมาเป็นกระแสเงินในรูปแบบค่าเล่าเรียน เพื่อใช้ในการสะสมทุนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้กิจกรรมที่เกิดขึ้นคือ นักศึกษาซื้อ “สิทธิ์”ในการลงเบียนเพื่อเรียนวิชาในหลักสูตร แต่ไม่ได้ซื้อปริญญาบัตรนะครับ ดังนั้นมองรายวิชาและหลักสูตรเป็นสินค้าวิชาการไม่ได้หมายความใบปริญญาในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้ เพราะว่าเมื่อนักศึกษาได้สิทธิ์ในการเรียนก็ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านในรายวิชานั้นจนเก็บหน่วยกิตครบหลักสูตรกันหมดทุกคน

มูลค่าส่วนเกินที่ถูกดูดซับมาได้ก็จะถูกกระจายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ที่มีส่วนในการผลิตและสร้างหลักสูตร เช่น คณะจำเป็นต้องหักเงินรายได้บางส่วนจากค่าเทอมให้แก่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยไว้เป็นแหล่งรายได้ และเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างฝ่ายบริหารและคณะ คณะจำเป็นต้องหักรายได้เพื่อจัดจ้างบุคลากรฝ่ายสนับสนุน เพื่อให้เกิดการจัดการและแก้ไขปัญหาทางเอกสารทีเกี่ยวข้องกับระเบียบต่างๆของมหาวิทยาลัยได้อย่างคล่องตัวและถูกต้อง

อาจกล่าวได้ว่า บุคลากรฝ่ายสนับสนุนแม้ว่าไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงในการสร้างมูลค่าส่วนเกิน แต่พวกเขาถือเป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ในการอำนวยการให้กระบวนการสร้างมูลค่าส่วนเกินของมหาวิทยาลัยดำเนินการไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้นักศึกษาเองก็เป็นผู้รับผลจากการกระจายของมูลค่าส่วนเกินด้วย จากการที่คณะ/ภาควิชา ต้องจัดสรรงบประมาณไปสู่กิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ของนักศึกษาเป็นต้น

เขียนมาถึงตรงนี้ผมไม่ได้ต้องการยกเครดิตทั้งหมดให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยว่าดีเลิศ หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่การแข่งขันเชิงธุรกิจทวีความรุนแรงขึ้น แต่ละมหาวิทยาลัยพยายามมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยความต้องการติดอันดับหรือชาร์ทต่างๆ นั้น ภารกิจแห่งการสอนเหมือนว่าจะถูกให้ความสำคัญน้อยลง เมื่อเทียบกับภารกิจวิจัย นั่นเพราะว่าการวิจัยสามารถช่วยในการไต่อันดับได้เร็วกว่าการสอนนั่นเอง

จริงอยู่ว่าภารกิจวิจัยนั้นสำคัญมากในการพัฒนาวิชาการให้แก่อาจารย์ในคณะ/ภาควิชา เพื่อนำไปสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น ยังผลให้ทำให้คณะ/การดึงดูดมีภาพลักษณะทางวิชาการที่ดีขึ้นและทำให้มีผู้สนใจมาเรียนมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในกรอบนี้ ภารกิจวิจัยถือว่าไม่ได้สร้างมูลค่าส่วนเกิน นั่นเพราะว่ามันไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับการผลิตสินค้าวิชาการ

กล่าวคือ การวิจัยเกิดขึ้นเพราะผู้วิจัยได้รับการ “จัดสรร” หรือ “กระจาย” มูลค่าส่วนเกินจากการสินค้าวิชาการที่อยู่ในรูปทุนอุดหนุนมาสู่ผู้วิจัย ดังนั้นในบทบาทของการเป็นนักวิจัยจึงไม่ได้สะท้อนความเป็นกรรมาชีพวิชาการเพราะไม่ได้สร้างมูลค่าส่วนเกิน หากแต่เป็นบทบาทของ “ผู้รับ” การปันผลจากมูลค่าส่วนเกินนั้น

จริงๆเรื่องบทบาทของการสอนและวิจัยเป็นสิ่งที่สามารถอภิปรายได้อีกมาก แต่ถ้าเฉพาะข้อคิดที่ได้จากบทความนี้คือ กลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยในภายหน้าจึงไม่ใช่การส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการวิจัยอย่างไม่ลืมหูลืมตา หากแต่ต้องสร้างสมดุลระหว่างภารกิจสอนและวิจัย ด้วยการเล็งเห็นถึงอัตลักษณ์แห่งความเป็นชนชั้นกรรมาชีพวิชาการด้วยการให้คุณค่าแก่งานสอน เพราะงานสอนนอกจากสร้างมูลค่าส่วนเกินแล้ว ยังเป็นกระบวนการที่ผ่องถ่ายพลังแรงงานของอาจารย์ให้ไปสู่ผู้เรียนให้กลายเป็นแรงงานผลิต (productive worker) ในอนาคตด้วย

แต่ก็ไม่ควรให้สอนมากไปเพราะอาจทำให้อาจารย์ไม่มีเวลาในการพัฒนาทักษะทางวิชาการ ในอีกทางหนึ่งถ้ามีแต่คนทำวิจัยมากไปสิ่งที่ตามมาคือก็จะไม่มีใครสอนหนังสือ ซึ่งอาจสั่นคลอนมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาและอาจเกิดวิกฤติในการผลิตมูลค่าส่วนเกินได้

///////////////////

โดย นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น