ปัญหาคนไทยหนี้และทิ้งลูกไว้กับญาติในชนบทมาก

ปัญหาคนไทยหนี้และทิ้งลูกไว้กับญาติในชนบทมาก

เราถูกครอบงำโดยเศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้เชื่อกันว่าถ้าเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราสูงจะช่วยให้คนไทยทุกคนพ้นความยากจน แต่นั่นไม่ใช่ความจริง

ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ยังเป็นคนมีรายได้น้อยหรือคนจนเป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วย นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดที่ทำกันอยู่ แม้จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมโตได้ปีละ 3-4% ไม่ได้ช่วยให้พวกคนจนมีรายได้สูงขึ้น 3-4% เสมอไป

การจะเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ควรมองเรื่องรายได้และรายจ่ายของประชาชนส่วนใหญ่ และควรสนใจข่าวเล็กๆ ซึ่งมีความหมายต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญ เช่น งานวิจัย เรื่อง “มุมมองใหม่ หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร” โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (โพสต์ทูเดย์ 27 มิ.ย. 2560) พบว่าไทยมีหนี้ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) อยู่ที่ 71.2% สูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก

ที่น่าสังเกตคือ คนไทยเป็นหนี้ (สถาบันการเงิน) ได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี และคนในวัยเริ่มทำงานอายุ 30 ปี เป็นหนี้กันถึงครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่น หนี้ส่วนใหญ่คือหนี้การบริโภคส่วนบุคคลหรือการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต คนกลุ่มที่เป็นหนี้นี้ยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือหนี้เสียสูงราว 20% ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมหนี้จากการกู้ยืมกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้สวัสดิการจากที่ทำงานและองค์กรต่างๆ อีกนับแสนล้านบาท

ในรอบ 7 ปี คือ 2552-2559 สัดส่วนประชากรที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% และหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นบาทเป็น 1.5 แสนบาท คนที่อยู่ในวัยเกษียณ 60-80 ปี มีหนี้ซึ่งส่วนใหญ่คือสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ลดลง บางทีคนสูงอายุยังต้องกู้เพิ่ม ซึ่งต่างจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่กลุ่มคนในกลุ่มอายุนี้ หนี้จะหมดไปหรือลดลง

นี้เป็นสถิติของการกู้ยืมในระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่คนไทยกู้นอกระบบสถาบันการเงินอีกมาก โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย คนเป็นหนี้มากกว่าคนเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินด้วย รายการโทรทัศน์ที่ให้คนเป็นหนี้ที่ร้องเพลงได้มาร้องเพลงแข่งกัน การสัมภาษณ์ผู้เข้าแข่งขัน สะท้อนให้เห็นว่าคนทั่วไปเป็นหนี้กันมาก, สารพัดรูปแบบ และทั้งหมดไม่มีกำลังที่จะปลดหนี้ได้

ปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือรัฐให้บริการทางด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัยแบบฟรี ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ เพราะหลายครอบครัวเป็นหนี้ เพราะปัญหามีสมาชิกครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วย และการส่งลูกหลานไปเรียน ระบบการให้สินเชื่อของไทยควรคิดดอกเบี้ยต่ำลง และสถาบันการเงินและสถาบันอื่นควรมีการติดตามช่วยเหลือแนะนำให้ผู้กู้รู้จักใช้เงินไปลงทุนที่สามารถนำกลับมาใช้หนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ส่งเสริมแต่การกู้ยืมไปบริโภคเพื่อการหา โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาวในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประชาชนควรรู้จักบริโภค ออม ลงทุนให้เหมาะสม เศรษฐกิจโดยรวมจึงจะพัฒนาประเทศได้อย่างสมดุล

นี่คือปัญหาที่ต้องการการวิจัย การวิเคราะห์กันให้ละเอียดมากกว่านี้ ประเทศไทยจึงจะพิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนได้จริง แนวทางสำคัญคือต้องพัฒนาคนไทยให้มีประสิทธิภาพและโอกาสทำงานที่มีรายได้สูงพอสมควร มีการกระจายทรัพย์สิน รายได้ ที่เป็นธรรมขึ้น รวมทั้งการสอนให้ประชาชนรู้จักการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ลดบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยด้วย

ข่าวเล็กอีกข่าวหนึ่งที่เป็นปัญหาสังคมและสร้างปัญหาระยะยาวคือ การสำรวจของยูนิเซฟ องค์กรด้านเด็กของสหประชาชาติ พบว่าเด็กไทยอายุระหว่าง 0-17 ปี ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่ ทิ้งลูกไว้กับปู่ย่าตายายหรือญาติคนอื่นในชนบท ถึง 3 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานซึ่งจนที่สุด มีประชากรมากที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ 19 มิ.ย. 2560) ปัญหานี้นำไปสู่การขาดแคลนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความอบอุ่นทางจิตใจของเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว มักไม่สามารถเรียนรู้พัฒนาได้ดีเท่าที่ควร และยังนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่น และปัญหาสังคม วัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย

ทั้ง 2 เรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของชุดความคิดการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมสุดโต่งที่อ้างว่าการทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตสูง (แบบรวมศูนย์ทุนในมือทุนใหญ่) จะทำให้เศรษฐกิจดี ประชาชนมั่งคั่ง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเน้นการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัยขึ้น ก็คือชุดความคิดแบบเดียวกัน ที่มองข้าม ไม่สนใจ และไม่เข้าใจปัญหาการพัฒนาคน ครอบครัว สังคม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าอัตราการเพิ่มของจีดีพี (การเติบโตของสินค้าและบริการ) ที่เป็นประโยชน์กับทุนข้ามชาติ ทุนขนาดใหญ่ และชนชั้นกลาง มากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนงาน เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดย่อม

รัฐบาลชุดนี้ชอบอ้างว่าพวกตนจะปฏิรูปประเทศ จะพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี แต่พวกเขายังคงคิดอยู่ในกรอบนโยบายเร่งรัดพัฒนาการเจริญเติบโตสินค้า บริการ โดยไม่เข้าใจว่าการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงนั้นหมายถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง เพื่อกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานทำ บริการทางสาธารณสุขและสังคมอื่นๆ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ประเทศจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลและต่อเนื่องและเป็นไปเพื่อคุณภาพชีวิตและความผาสุกของประชาชนส่วนใหญ่ มากกว่าการเพิ่มความหรูหราทันสมัยที่ฟุ่มเฟือยและล้างผลาญระบบนิเวศของคนรวยกลุ่มน้อย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือก เกษตรผสมผสาน หัตถกรรม อุตสาหกรรมท้องถิ่นให้ได้ผลดี ประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้ตอบแทนมากขึ้น คนท้องถิ่นก็จะทำงานอยู่ในพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานในเมืองใหญ่ และสร้างปัญหาความแตกแยก การขาดความอบอุ่น ในครอบครัวอย่างที่เป็นอยู่ และพวกเขาก็จะมีรายได้ไปลงทุนเรื่องการศึกษาและการพัฒนาลูกหลานและตัวเองให้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพมากขึ้น

รวมทั้งถ้าคนส่วนใหญ่ 60 กว่าล้านคนมีรายได้สูงขึ้น พวกเขาก็จะมีกำลังซื้อไปอุดหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสาจาอื่นๆ ภายในประเทศให้เจริญเติบโตได้เพิ่มขึ้นได้อย่างสำคัญด้วย