“Google Play Protect”

“Google Play Protect”

“กูเกิล”มักถูกแฮกเกอร์โจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะเหล่าแอพพลิเคชั่น ที่กลายเป็นช่องทางหรือเครื่องมือยอดฮิต ซึ่งแฮกเกอร์ใช้เพื่อเข้าถึงเหยื่อ

ล่าสุดบทความจากนิตยสาร อินโฟซิเคียวริตี้ (Infosecurity Magazine) เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ แรนซัมแวร์ในแอนดรอยด์พุ่งทะยานเพิ่มขึ้นมากถึง 138% 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีข่าว 800 แอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ที่ติดมัลแวร์ที่ชื่อ ซาเวียร์ (Xavier) ซึ่งเป็นมัลแวร์ที่มาคอยขโมยข้อมูลในเครื่องเหยื่อเมื่อช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้านั้นในเดือนพ.ค.มีข่าวสะพัดที่สร้างความตระหนกไม่น้อยของการแพร่ระบาดมัลแวร์ จูดี้ (Judy) บนแอนดรอย์ที่สร้างความเสียหายให้อุปกรณ์ไม่ต่ำกว่า 36 ล้านเครื่อง

ดังนั้นแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ล่าสุดของแอนดรอยด์ กูเกิลจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นพิเศษ จากกรณีการเปิดตัวของแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่ แอนดรอยด์ “โอรีโอ้ 8.0” ที่เปิดตัวมาพร้อมบริการใหม่อย่าง “Google Play Protect” เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แอนดรอยด์ 

สำหรับฟีเจอร์ใหม่นี้จะพร้อมทำงานตลอดเวลาเมื่อทำการติดตั้ง ซึ่งมีจุดเด่นคือ ทำหน้าที่ช่วยสแกนแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้งานติดตั้งลงเครื่องอัตโนมัติเพื่อป้องกันช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจเป็นที่มาของภัยร้ายจากแฮกเกอร์ โดยจะมีการสแกนแอพพลิเคชั่นถึง 50,000 ล้านแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ที่มาการใช้งานทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านเครื่องในแต่ละวัน ด้านเทคโนโลยีฟีเจอร์ใหม่นี้เป็นการใช้แมทชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) มาช่วยเสริมศักยภาพการรักษาความปลอดภัยให้กับระบบแ

อย่างไรก็ดี นอกจากมีบทบาทเป็น App Scanning ที่ช่วยสแกนแอพพลิเคชั่นดังกล่าวแล้ว ยังมีตัวช่วยน่าสนใจอีก 2 บริการคือ “Anti-Theft Measurement” ที่เปลี่ยนชื่อจาก “Android Device Manager” เป็น “Find my Device” โดยสามารถล็อคเครื่องและลบตัวตนเมื่อมือถือหายหรืออาจโดนขโมยได้ ขณะที่อีกบริการคือ “Browser Protection” ซึ่งคือฟีเจอร์ Safe Browsing บนกูเกิลโครม ทำหน้าที่ช่วยเตือนผู้ใช้หรือบล็อก เว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

แม้ว่ากูเกิลจะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยต่างๆ มาเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ แต่สุดท้ายแล้วความปลอดภัยที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ใช้เองที่ต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ และมีสติในการเข้าเว็บไซต์ การโหลดแอพพลิเคชั่นหรือข้อมูลต่างๆ การคลิกเปิดลิงค์หรืออีเมลอยู่ตลอดเวลา เพราะอาชญากรไซเบอร์คงไม่ปล่อยให้ผู้ใช้อยู่อย่างปลอดภัยอย่างแน่นอน