จาก CSR สู่ DSR Digital Social Responsibility

จาก CSR สู่ DSR Digital Social Responsibility

จากสภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงที่จังหวัดสกลนคร ได้มีหลายหน่วยงานที่ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือในเดือนที่ผ่านมา

กิจกรรมการช่วยเหลือทั้งหลายของบริษัท องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆแม้ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง แต่ได้ช่วยผู้ประสบอุทกภัย กิจกรรมการช่วยเหลือรูปแบบนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) แต่ที่ถูกต้องแล้วคือ Cause Marketing หมายความถึงกิจกรรมการตลาดที่ช่วยเหลือเมื่อมีสาเหตุใดที่เกิดขึ้นที่เป็น Hot emergency issues ในขณะนั้น

เนื่องจากกิจกรรม CSR สามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Corporate Philanthropy คือ การที่องค์กรมีกิจกรรมแสดงถึงการรักเพื่อนมนุษย์ในโลกนี้และเขียนไว้เป็นปรัชญาหรือภารกิจขององค์กรอย่างชัดเจน

Socially Responsibility Business Practice คือบริษัทยืนยันว่าจะเป็นองค์กรที่มีวิถีปฏิบัติในการทำงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสังคมและสภาพแวดล้อมรอบด้าน Corporate Social Marketing ที่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ CSR ที่เป็นการช่วยเหลือสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เช่น กิจกรรมช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส

  ส่วนการช่วยเหลือเหตุการณ์น้ำท่วมของเหล่าดาราหรือพนักงานที่เป็นตัวแทนบริษัท เป็นรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Corporate Volunteering ที่เป็นรูปแบบ CSR ที่องค์กรอาสาสมัครจะช่วยเหตุการณ์ภัยธรรมชาติโดยการส่งพนักงานของบริษัทหรือกำลังคนไปช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน

ในโลกปัจจุบันที่เป็นโลกของดิจิทัล เป็นการติดต่อสื่อสารที่มีเครื่องมือทางดิจิทัลครบครัน ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลเน็ตเวริ์ค เฟซบุ๊ค ไอจี หรือผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งนับว่าทำให้กิจกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและถึงมือผู้ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างง่ายดายจนน่าจะกล่าวได้ว่า CSR Corporate Social Responsibility ได้เปลี่ยนไปเป็น Digital Social Responsibility ที่เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านเครื่องมือดิจิทัลนั่นเอง

ผมในฐานะนักการตลาดและเป็นผู้สอนวิชาการตลาดในสถาบันการศึกษา จึงใคร่ขอนำเสนอศัพท์ใหม่ที่เป็นแนวคิดของการช่วยเหลือสังคมของกิจกรรม CSR ให้เข้ากับยุคดิจิทัล 4.0 นี้ ที่สามารถใช้ดิจิทัลเป็นสื่อหลักในการสรรสร้างกิจกรรมการตลาดช่วยเหลือสังคมได้ โดยขอเรียกว่า DSR Digital Social Responsibility

ตัวอย่างเช่น รูปแบบของ Digital Cause Promotions ที่องค์กรนั้นๆจะบอกว่าทุกๆ 100 บาทที่ท่านซื้อสินค้าจะหักเงิน 10 บาทเข้าช่วยผู้ประสบภัยนั้นสามารถกระทำได้โดยผ่านการหักเงินผ่านทางโซเชียลเน็ตเวริ์คในโทรศัพท์มือถือได้เลย

ดังนั้น รูปแบบของการใช้ DSR มีข้อควรระวังหลายประการไม่ว่าภาพลักษณ์ที่อาจจะออกมาในเชิงลบแทนที่จะเป็นบวก เพราะการพูดต่อหรือวิจารณ์กันอย่างเสนุกปากและไม่รู้ข้อเท็จจริง จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลมานเสนอและตอบโต้ผ่านดิจิตัลอย่างทันท่วงที

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ กิจกรรมการช่วยเหลือสังคม (CSR) ได้ถูกนำเสนอโดยนักการตลาดให้ปรับเปลี่ยนเป็น CSV (Creating shared Value) ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่เป็นกิจกรรมการช่วยเหลือสังคมที่เป็นการช่วยสังคมอะไรก็ได้แบบ CSR แต่ควรเป็นกิจกรรมการช่วยเหลือสังคมที่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขององค์กรด้วย

ดังนั้นถ้าการสร้างกิจกรรมการช่วยเหลือสังคม (CSR) สามารถกระทำผ่านดิจิตัลได้เป็น DSR (Digital Social Responsibility) กิจกรรมการช่วยเหลือสังคมแบบ CSV (Creating shared value) ก็ควรเป็น DSV (Digital shared value) ที่เป็นกิจกรรมการช่วยเหลือสังคมที่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขององค์กรและผ่านเครื่องมือดิจิตัลขององค์กรด้วย

   ในโลกปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรรูปแบบไหนก็ตามที่มีการนำเอาดิจิทัลไปใช้ในการทำธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจประเภท Start ups ดังนั้นองค์กรเหล่านี้ก็ควรจะได้ทำกิจกรรม DSR เป็นการสรรสร้างการช่วยเหลือสังคมผ่านดิจิตัล ตัวอย่างเช่น การทำ DSR โดยให้ความช่วยเหลือเงินผ่านการแชร์ในเฟสบุ๊คเมื่อจังหวัดสกลนครน้ำท่วม

ส่วนการที่อูเบอร์ ให้บริการรถแท็กซี่ฟรีสำหรับผู้ที่ประสบภัยในช่วงตึกไฟไหม้ที่ประเทศอังกฤษ นั้นก็คงเรียกได้ตามภาษาที่ผมบัญญัติขึ้นมาว่า DSV Digital shared value

แต่ไม่ว่าจะทำกิจกรรมช่วยเหลือแบบไหน ก็ขอให้ทุกองค์กรพึงสังวรณ์ไว้ว่ากิจกรรมที่ทำไปเพื่อให้คนชื่นชอบและรักให้มากที่สุด (Heart Share) เท่านั้น อย่าไปคาดหวังการสร้างยอดขายในตลาด (Market share) เลย