Online Marketplace กับโอกาสไร้พรมแดน

Online Marketplace กับโอกาสไร้พรมแดน

การผันตัวของธุรกิจเดิมๆ ที่สามารถเข้ามาใช้ช่องทางใหม่ๆ กับผู้เล่นที่ไม่จำกัดแค่องค์กรในห่วงโซ่อุปทานตามปรกติ

เป็นงง เมื่อได้ยินคำบอกเล่าจากคนทำธุรกิจที่ไปเช่าบ้านมาเพื่อทำการปล่อยเช่าต่อผ่าน Airbnb ด้วยปรกติที่คุ้นเคยกันมักเป็นกรณีเจ้าของบ้านเองที่ปล่อยเช่า และการเกิดขึ้นของ Airbnb ก็ทำให้มีช่องทางเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้น คือครอบคลุมไปถึงคนที่ต้องการเช่าระยะสั้นและกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย เมื่อ Platform ของ Airbnb หรือที่เรียกเป็น Online Marketplace ให้ความสะดวกคล่องตัวได้อย่างสูงแล้ว จึงนำไปสู่การต่อยอดของธุรกิจสนับสนุนต่อเนื่องกัน เช่นกรณีตัวอย่างที่ยกมา คือเกิดธุรกิจ Property Development มารองรับตัว Platform อีกที เป็นที่ชวนคิดต่อว่าหากจะมองหาโอกาสทำการค้าจากการขยายตัวของ Online Marketplace น่าจะมีช่องทางอะไรต่อไปได้อีกบ้าง

โอกาสของ Online Marketplace โมเดลนี้เริ่มจากยุคแรกที่ยังไม่มีกิจกรรมทางการค้าชัดเจน เช่นการเป็นแหล่งรวมข้อมูล ความรู้ ที่มาจากผู้คนหลากหลายเช่น กรณี Wikipedia เป็นต้น และยังมีการรวบรวมความเห็น เช่น Online Reviews รวมถึงการรวบรวมไอเดียความคิด เช่นที่เป็น Open Source เหล่านี้ล้วนสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจดังที่พบโมเดลของ Online Marketplace ในยุคถัดมา อย่างการเอา Reviews ผูกกับการนำเสนอสินค้าบริการ เช่น TripAdvisor หรือบ้านเรามี Wongnai หรือ painaidii แนะนำที่เที่ยว ร้านอาหาร พร้อมโปรโมชั่นที่มาจากการดีลกับบริษัท เป็นต้น

ต่อมาในยุคปัจจุบันพบ Online Marketplace เพิ่มบทบาทตัวเองได้มากขึ้น คือ ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่กลางที่อำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกัน แต่ให้บริการเสริมต่อเนื่องไปได้อีกไม่ว่าจะเป็นจากความสามารถทำการวิเคราะห์ความต้องการที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ช่วยจับลักษณะสร้าง Segment ที่แม่นยำของ 2 ฝั่งที่มาเจอกันได้ และยังรวมไปถึงธุรกิจการพ่วงต่อตาม Workflow ในการเกิดกิจกรรมทางธุรกิจ หรืออาจมองเป็นการขยายแบบ Vertical 

เช่นกรณี Wongnai เมื่อคนเข้ามาหาเจอร้านอาหารที่สนใจแล้วก็สามารถทำรายการสั่งซื้อเพื่อให้มาส่งถึงบ้านได้ผ่านไลน์แมน เป็นต้น นอกจากบริการจัดส่งแล้วก็อาจลองนึกต่อถึง Workflow อื่นๆ เช่นการประกัน (กรณีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทาง) หรือบริการทางการเงิน เช่นการแลกเปลี่ยนเงินตรา โอกาสต่อขยายธุรกิจอีกทางอาจมาจากแนวราบ (Horizontal) เช่น เห็นว่ามีความสนใจซื้อหนังสือเล่มหนึ่งแล้วแนะนำต่อไปถึงเล่มอื่นโดยนักเขียนเดียวกัน หรือแนะนำโดยหมวดความสนใจ ซึ่งประมวลผลมาจากฐานข้อมูลลูกค้าคนอื่นที่เคยเข้ามาค้นหาหรือสั่งซื้อไว้ เป็นต้น

ยังมีอีกแนวคือขยายข้ามห้วงเวลาไปสู่อนาคต เช่น ขายพ่วงแบบเผื่อให้ใช้บริการต่อในครั้งถัดไป อย่างกรณีการขายตั๋วล่วงหน้าหรือขายสิทธิ์ให้จองไว้ก่อนในราคาพิเศษ แล้วค่อยเลือกว่าจะไปใช้บริการเมื่อไรในอนาคตอีกที

โอกาสธุรกิจอีกชนิด ใกล้เคียงที่เล่าตัวอย่างตอนต้นคือการลงทุนสร้างทรัพยากรมารองรับการขยายตัวของ Online Marketplace เช่น Uber เคยเป็นแหล่งรวมผู้ให้บริการได้แก่คนมีรถทั่วไปที่อยากเอารถมาขับหารายได้เสริม ปัจจุบันเมื่อธุรกิจ Uber เติบโต ก็เกิดเป็นบริษัทที่เข้ามาให้เช่าซื้อรถยนต์กับคนขับขี่ที่อยากเอาไปใช้ทำ Uber ด้วย เป็นต้น มองอีกแง่ก็เป็นการผันตัวของธุรกิจเดิมๆ ที่สามารถเข้ามาใช้ช่องทางใหม่ๆ กับผู้เล่นที่ไม่จำกัดแค่องค์กรในห่วงโซ่อุปทานตามปรกติ แต่รวมไปถึงคนธรรมดาทั่วไปที่อาจกลายมาเป็นผู้ให้บริการหรือผู้ขายผ่าน Online Marketplace อีกตัวอย่างที่พบการใช้ประโยชน์แนวนี้ เช่น e-Bay ที่ปัจจุบันเป็นแหล่งกลางให้ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) เข้ามาซื้อหาสินค้าเอาจากคนขายที่เป็นบุคคลทั่วไป แล้วจึงนำเอาไปใช้หรือขายต่ออีกที

โดยสรุปจะเห็นว่าโมเดล Online Marketplace สร้างทางเลือกใหม่ของชนิดสินค้า ผู้ค้า ราคา และข้อตกลงระหว่างคนซื้อและคนขาย ทำให้เกิดโอกาสการขยายธุรกิจแบบใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดกับการผูกความตกลงกันด้วยวิธีทำงานแบบเดิม ดูแล้วเหมือนไม่ซับซ้อนแต่ในความจริงใช่ว่า Online Marketplace จะประสบความสำเร็จไปทั้งหมด เงื่อนไขสำคัญที่เป็นไก่กับไข่คือการรวบรวมกลุ่มก้อนของคนขายและคนซื้อให้ได้มากพอเพื่อสร้างพลวัตของความเป็นตลาด ปัจจัยนี้เป็นเรื่องปราบเซียนที่โมเดลตลาดแบบอดีตใช้บารมีกับเอา connection มาผูกกันไว้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนโฉมไปเป็นเรื่องการนำ AI มาช่วยสร้างกลไก ส่วนสมองกลจะทำงานได้ขนาดไหนไว้จะหาโอกาสมาเล่าสู่กันฟังต่อค่ะ