แรงกดดันภายใต้ความหวั่นวิตก

แรงกดดันภายใต้ความหวั่นวิตก

ความหวั่นวิตกต่อความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป็นเรื่องของแต่ละคนเท่านั้น หากแต่เป็นผลมาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละกลุ่มในสังคม

ซึ่งถักสานกันอย่างซับซ้อนและก่อให้เกิดการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่แตกต่างกันแม้ว่าจะ “มองเห็น" ข้อมูลชุดเดียวกันก็ตาม

ความพยายามของอัยการมณฑลทหารบกที่ 23 ในการเพิ่มเวลาการลงโทษให้ “ไผ่ ดาวดิน” ยาวนานขึ้น (ประชาไท 23 ส.ค 2530 และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน www.tlhr 2014.com ) และได้นำพยานโจทก์ซึ่งเป็นนายทหารที่ทำหน้าที่จับกุมนักศึกษากลุ่มที่ถือป้ายประท้วงการรัฐประหารขึ้นให้การ

น่าสนใจมากนะครับ เพราะการเบิกความของนายทหารผู้เป็นพยานโจทก์แสดงให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างผู้จับกุมกับผู้ถูกจับกุม ดังความที่สรุปมาว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่พยานไม่เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นกบฎในราชอาณาจักร แต่เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน การกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย คัดค้านรัฐประหารนั้น แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ

ความพยายามจะลงโทษในความแตกต่างของ “การให้คุณค่า” ต่อการรัฐประหารนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีของการยึดอำนาจ และดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังๆ พร้อมกับขยายขอบเขตออกไปตัดสินการให้คุณค่าในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณีของนักวิชาการที่ถือป้ายที่พึ่งเขียนเสร็จสดๆ ร้อนๆ ในขณะนั้น (เขียนไม่สวยด้วย ฮา) ว่า “ เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ถูกอธิบายว่า “กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ได้มีการจัดเตรียมแผ่นป้าย อุปกรณ์ เครื่องมือในการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ...เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง “ (กระดาษ A4 แปะต่อกัน แถมยังแปะยาวต่อกันไม่ได้ จึงต้องแยกกันถือกัน 3 ท่าน ) และเมื่อถูกตั้งคำถามว่าทำไมการจับกุมจึงเกิดขึ้นใการจัดงานสัมมนาไทยศึกษานานาชาติ ก็มีแถลงการณ์อธิบายเพื่อลดกระแสทำนองว่าการดำเนินคดีกลับจะเป็นการดำรงรักษาชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นการให้เหตุผลแบบไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ เสรีภาพทางวิชาการ” อย่างสิ้นเชิง (และเป็นความพยายามจะแก้ตัวให้แก่การทำการของตน)

หากไม่นับเอากลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องให้ทหารรัฐประหารเพื่อ “ล้าง” นักการเมืองชั่วแล้ว การให้ความหมายต่อการรัฐประหาร ในสังคมโลกโดยทั่วไป ทั้งหมดมองว่าการรัฐประการไม่ใช่การกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุนแต่ประการใด (ย้ำนะครับในสังคมโลกทั่วไป)

การรับรู้ความหมายของการรัฐประหารโดยทั่วไปของสังคมโลกนี้ จึงเป็นสภาวะของความหวั่นวิตกต่อความหมายของการกระทำยึดอำนาจ ความหวั่นวิตกนี้ก็แสดงออกด้วยความพยายามจะเน้นย้ำถึงเงื่อนไขความจำเป็นที่ต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดกันระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย ความพยายามจะเน้น “ลักษณะเฉพาะ” ของสังคมไทย (ผ่านปัญญาชนชั้นนำของประเทศหลายท่าน) และที่สำคัญ ความหวั่นวิตกนี้นำมาซึ่งการขยายอำนาจรัฐเข้าควบคุมความคิดของผู้คนไม่ให้แสดงออกในพื้นที่สาธารณะ

ความหวั่นวิตกว่าหากผู้คนจำนวนมากขึ้นได้สื่อสารกันเข้มข้นมากขึ้นว่า “การรัฐประหาร” เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น อาจจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่กว้างขวางและใหญ่หลวงมากขึ้น จึงเป็นแรงกดดันให้กลไกอำนาจรัฐทั้งหมดพยายามที่จะ “สอดส่อง” และ “แสวงหา” ผู้กระทำการในเรื่องนี้มาลงโทษ โดยหวังว่าจะเป็นการสร้าง “ความหวาดเกรง” จนไม่กล้าสื่อสารในพื้นที่สาธารณะทั่วไป

ในมุมกลับ แรงกดดันภายใต้ความหวั่นวิตกเช่นนี้ กลับไม่ได้ทำให้ความหวั่นวิตกลดลง กลับยิ่งทำให้เกิดความหวั่นวิตกมากขึ้น เพราะยิ่งเมื่อพยายามมองหา/ส่องสายตาจับจ้องการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคน” ยิ่งถูกทำให้ความหวั่นวิตกนั้นฝังแน่นเข้าใปในกรอบความรู้สึกนึกคิด ลองนึกถึงกระบวนการสอดส่องของเยาวชนนาซีในประเทศเยอรมนีหรือเยาวชนแดงในการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศจีน

สภาพที่ต้องทำทุกอย่างตามแรงกดดันจากความหวั่นวิตกนี้กลับจะยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมมากขึ้น ความหวังที่จะสร้าง “ความปรองดอง” ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

ทางออกที่อยากจะบอกแก่ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ก็คือ ผ่อนคลายความหวั่นวิตกลง และลองคิดถึงการทำให้เกิดความเข้าใจความขัดแย้งในสังคมได้อย่างถูกต้องกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อที่จะให้คนแต่ละกลุ่มในสังคมได้เลือกการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญานมากขึ้น กลุ่มของคณะรัฐประหาร รัฐบาล และกลไกอำนาจรัฐทั้งหลายก็จะผ่อนคลายความกดดันลงและทำงานให้สังคมได้อย่างสบายใจมากขึ้น

คงต้องเตือนต่อไปว่าหากกลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดไม่ยอมเข้าใจความหวั่นวิตกที่กำลังกดดันท่านให้มีปฏิบัติการณ์แบบที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้พวกท่านห่างจากความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น และยิ่งทำให้ระบบการให้เหตุผลของพวกท่านเป็นเรื่องไร้สาระและเป็นเรื่องชวนหัวมากขึ้นตามไปด้วย

ก็ยังคงต้องเสนออย่างที่เสนอว่าแล้วหลายครั้งว่ากลุ่มชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐประหารหรือกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลนี้ว่าพวกท่านต้องเรียนรู้ “วิชาการสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์” มากขึ้น (อยากให้อ่านงานของ Hannah Arendt ครับ)เพราะความปราศจากซึ่งปัญญาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้ทำให้ท่านเลือกทางเดินให้สังคมที่ผิดพลาดและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง