ความเสี่ยงทรัมป์ : สั้น กับ ยาว

ความเสี่ยงทรัมป์ : สั้น กับ ยาว

ต้องยอมรับว่าการปลดนายสตีฟ แบรนอน หัวหน้านักกลยุทธ์ของทำเนียบขาว คีย์แมนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นยาห้ามเลือดของรัฐบาล นายทรัมป์

จากการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการให้สัมภาษณ์ของนายทรัมป์แบบสุดที่จะยอมรับได้จากชาวอเมริกันต่อการเกิดเหตุการณ์วุ่นวายบานปลายในเมือง Charlottesville ก่อนที่จะมีทีมงานอื่นๆจะตัดสินใจลาออก ผมมองว่าแม้จะห้ามเลือดได้ชั่วคราว ทว่ารัฐบาลของนายทรัมป์ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและยาว ดังนี้

ความเสี่ยงในระยะสั้นของโดนัลด์ ทรัมป์ ในตอนนี้ ผมคิดว่าน่าจะมาจากเพดานหนี้ของสหรัฐที่จะชนลิมิตในเดือนต.ค. นี้ ซึ่งกระทรวงการคลังชี้ว่าให้รีบหาทางลงภายในวันที่ 29 ก.ย. นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า โดยหน่วยงานที่จัดทำเรื่องงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐหรือ CBO ได้ประมาณการณ์มูลค่าการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐว่าสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อยู่ 134 พันล้านดอลลาร์จากเมื่อช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 693 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ สภาคองเกรสยังต้องผ่านกฎหมายการใช้จ่ายเงินภาครัฐภายในเดือนก.ย. มิฉะนั้น จะเผชิญกับการปิดตัวลงของรัฐบาลเนื่องจากไม่มีตังค์จ่ายเจ้าหน้าที่ในเดือนต.ค. นี้ ทั้งนี้ ผู้นำของสภาคองเกรสพยายามทำให้ 2 เรื่องนี้แยกออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดการต่อรองโดยใช้เงื่อนไขของอีกประเด็นมาต่อรองประเด็นที่ต้องการ

กระนั้นก็ดี ผู้เขียนยังมองว่า หากไม่มีเหตุการณ์ประท้วงวุ่นวายที่เกี่ยวเนื่องกับคนผิวขาวกับคนผิวสีอีกครั้งจนนายทรัมป์เกิดน็อตหลุดอีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนนี้ นายแกรี คอห์น ประธานสภาที่ปรึกษาของนายทรัมป์ น่าจะสามารถคุมเกมผ่านกฎหมายปฏิรูปภาษีในบางส่วนได้ จนโมเมนตัมส่งผลให้ประเด็นเพดานหนี้กับกฎหมายการใช้จ่ายภาครัฐผ่านได้ไม่ยากมาก นี่ยังไม่นับสงครามน้ำลายหรือนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ของนายทรัมป์ ที่คงจะมีการทำสงครามจิตวิทยากันเป็นพักๆ

น่าสังเกตว่าทุกครั้งที่นายทรัมป์พลาดพลั้งกับเรื่องภายในประเทศ ก็จะหันมาทำสงครามกับประเทศที่ไม่สามารถตอบโต้ได้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ คราวนี้ถึงคิวของแอฟกานิสถานที่ต้องมาต้อนรับการเสริมกำลังทหารและอาวุธของสหรัฐ หันมาพิจารณาความเสี่ยงในระยะยาวกันบ้าง ผมคิดว่าจะมาจาก 3 ทาง ได้แก่ 

1.การไต่สวนประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์ว่าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือกับรัสเซียในช่วงหาเสียงหรือไม่ ซึ่งนายโรเบิร์ต มูลเลอร์ อดีตหัวหน้าหน่วยงานราชการลับของสหรัฐ เป็นประธานการสืบสวนในครั้งนี้

ทั้งนี้ ขอบเขตในการสอบสวนจากทีมงานสอบสวนของนายมูลเลอร์ซึ่งมีประสบการณ์สูงด้านความมั่นคงค่อนข้างกว้างทว่ามีความชัดเจนมาก ประกอบไปด้วยประเด็นใหญ่ ดังนี้

  1. จริงหรือไม่ที่มีความพยายามจากรัสเซียที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016
  2. มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับทีมงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
  3. ความลึกซึ้งหรือธรรมชาติของความร่วมมือระหว่างทีมงานรัฐบาลทรัมป์คนใดคนหนึ่งกับรัฐบาลรัสเซีย
  4. หาประเด็นใหม่ๆที่เชื่อมโยงกับรัสเซียซึ่งเกิดจากการสืบสวนในครั้งนี้

ท้ายสุด มีคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการแทรกแซงของรัสเซียในเรื่องนี้หรือไม่

ความน่ากังวลของนายทรัมป์มาจากความยืดเยื้อของการสอบสวนในครั้งนี้

ความเสี่ยงในระยะยาวจุดที่ 2. ของทีมทรัมป์ คือ การเข้ามาเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐของ นายแกรี คอห์น ในปีหน้า อาจจะมีคนค้านว่าโอกาสในตอนนี้ดูมีไม่สูงมาก ทว่าผมคิดว่าการที่นายทรัมป์ไฟเขียวการเปลี่ยนเนื้อหาใน Dodd Frank Bill ฉบับสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการพร้อมจะเปลี่ยนตัวคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดแบบยกชุด จึงมองว่ามีโอกาสไม่สูงที่นางเจเน็ต เยลเลน และนายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ ประธานและรองประธานเฟดที่จะอยู่ต่ออีกสมัย แม้จะมีนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดนิวยอร์ก ที่น่าจะเป็นตัวเต็งอีกคน 

ทว่าคนที่ดูมีโอกาสมากที่สุดในตอนนี้ ก็ยังเป็นคนวงในอย่างนายคอห์นอยู่ดี โดยผมมองว่าแม้ว่า แกรี คอห์นจะมีความสามารถสูง ทว่าการเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเฟด ความเป็นอิสระจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งตรงนี้คือจุดที่เสี่ยงที่อาจต้องเผชิญของเศรษฐกิจสหรัฐ

ความเสี่ยงท้ายสุด มาจากนายแบรนนอนที่เพิ่งถูกนายทรัมป์ปลดออก ผมคิดว่านายทรัมป์น่าจะคิดหนักมากในการปลดนายแบรนนอน เนื่องจากหากเลือกไม่ปลด บรรดาคีย์แมนต่างๆ รวมถึงนายคอห์น น่าจะทยอยกันลาออก ทีนี้ นายทรัมป์ต้องงานเข้าแน่นอน เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้ของรัฐบาลที่รออยู่ในอีกไม่ถึง 2 เดือน ไม่มีใครมาช่วยแก้ในช่วงนี้ หากคิดจะปลดอย่างที่นายทรัมป์ทำไป

ตัวนายแบรนนอนเองที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อสำนักข่าวยอดฮิตในคนกลุ่มล่างที่ออกจะคลั่งชาตินิยมขวาจัด ก็จะคอยสร้างข่าวรบกวนรัฐบาลตลอด ซึ่งตรงนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลนายทรัมป์น่าจะถึงวันที่ไม่สามารถดำเนินการเดินหน้าทำงานได้แบบหมูๆ เหมือนเดิม เนื่องจากจะมีกระแส fake news จากนายแบรนนอนมาให้ทีมงานของทรัมป์แก้เกมเรื่อยๆ

หากจะให้ผมประเมินว่าอะไรที่เสี่ยงสุดของนายทรัมป์ แน่นอนว่า ก็คือ นายทรัมป์ ที่จะเบรกแตกอีกครั้งเมื่อเจอคำถามสด จนเกิดเรื่องเหมือนสัปดาห์ที่แล้วอีกรอบครับ