ปั๊มปตท.ไร้ ‘เซเว่นฯ’ กระทบรายได้แต่ไม่สะเทือนธุรกิจ

 ปั๊มปตท.ไร้ ‘เซเว่นฯ’ กระทบรายได้แต่ไม่สะเทือนธุรกิจ

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.00-14.30 น

‘ว๊าย !! ปั๊มปตท. ไม่มีเซเว่น อีเลเว่น แล้วนะเค้าประกาศแยกทางกันแล้ว ‘ ข้อความไวรัลข่าวดังกระหึ่มในโลกโซเชียลทั้งวัน เพราะสถานีปั๊มปตท. ที่คุ้นตากันดีมักจะมีร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ชื่อ เซเว่น อีเลเว่น ประกบคู่อยู่ตลอด ยิ่งในสาขาต่างจังหวัดแถบจะมีทุกปั๊มของปตท. เลยทีเดียว

ข่าวที่เกิดขึ้นปรากฎจากฝั่งปตท. ว่าปั๊มปตท. จะหมดสัญญากับ เซเว่นฯ ที่มีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าสาขาในอีก 6 ปีข้างหน้า (2561-2565) ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมประมาณ 2-3 ปี ก่อนที่จะหมดสัญญาลงว่าจะเลือกวิธีการดำเนินการทำสัญญากับเซ เว่น ฯ ต่อ หรือจะพลักดัน จิฟฟี่ ขึ้นมาทดแทน

มองในทางธุรกิจปตท. ก็มีร้านค้าสะดวกซื้อ จิฟฟี่ อยู่แล้ว และเปิดให้บริการในบางสาขา ที่สำคัญเป็นของ ปตท. เองไม่ได้เป็นการซื้อเฟรนไซต์ หากจะทำเองก็ไม่ต้องมาแบ่งรายได้ค่าบริหารจัดการ ให้กับ บมจ. ซีพีออลล์ ในฐานะเจ้าของเฟรนไซต์เพียงผู้เดียวในประเทศไทย สร้างผลดีให้กับ ปตท. แน่นอน

หากย้อนดูการขยายสาขาปั๊มปตท. ต้องการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ไม่เพียงมาเติมน้ำมันเติมลมยางแล้ววิ่งออกจากปั๊มไป แต่มองไปถึงการหาช่องทางควักเงินในกระเป๋าของลูกค้าด้านอื่นอีก ยิ่งกิจกรรมที่ทำได้ทั้งครอบครัวทำให้ลูกค้าอยู่ใช้บริการในปั๊มได้นานขึ้นก็หมายถึงรายได้ที่จะเข้ามา

ดังนั้นกิจกรรมดังกล่าวหนีไม่พ้นร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของ เมื่อจะดึงประชาชนให้อยู่กับปั๊มปตท. ได้นานต้องมีแม๊กแน็กเข้ามาด้วยในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ ช่วงนั้นมองร้านสะดวกซื้อหนีไม่พ้น เซเว่น ฯ

ในระยะหลังปตท. เริ่มเล็งเห็นว่ารายได้ส่วนนอน-ออยล์มีสัดส่วนมากขึ้น มีมาร์จิ้นดี พร้อมกับมีโอกาสเติบโตในอนาคต จึงเห็นได้ว่าแบนด์กาแฟอเมซอน เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ ปตท. ทำเองแล้วประสบความสำเร็จ จนต่อยอดขายเฟรนไซต์ในต่างประเทศได้ สร้างรายได้กลับมาแถมยังสร้างแบนด์ได้อีกด้วย ทำไหมไม่เดินทิศทางเดียวกันกับร้านค้าสะดวกซื้อ บ้างละ

ตามแนวทางที่ผู้บริหารออกมาประกาศจะทยอยหมดสัญญาระยะเวลาเฟรนไซต์ที่ทำไว้คือปี 2565 หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า ทำให้มีการวางแผนจะนำ จิฟฟี่ มาขยายแทน ด้วยการเพิ่มสาขาเป็น 200 สาขา จากเดิม 149 สาขา ด้วยเงินลงทุน 3,300 ล้านบาท หรือ 30 % มาใช้ในการลงทุน

โดยระบุว่าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรองรับธุรกิจค้าปลีกด้วยการปรับปรุงสินค้าภายในร้านเพื่อตอบโจทย์กับสถานีที่ตั้งในเขตอุตสาหกรรมหรือท่องเที่ยว รวมไปถึงมองการขายเฟรนไชส์ จิฟฟี่ ให้กับบริษัทในเครือ เพื่อใช้รุกธุรกิจในต่างประเทศ อย่างสปป.ลาว กัมพูชา และฟิลลิปินส์

หากหันกลับมามองฐานะของเซเว่น ฯ นาทีนี้ก็ไม่ได้ไร้ความสามารถ หรือจะต้องเจอกับมรสุมลูกใหญ่หากไม่ได้อยู่ในปั๊มปตท . เพราะช่วงระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2545 ที่ปตท.ดึงเซเว่นฯ เข้ามาในปั๊มน้ำมันเพิ่มยอดสาขาได้ก็จริง แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนร้านเซเว่นฯ ทั้งประเทศ ณ ครึ่งปี 2560 มีสาขาจำนวน 10,007 สาขา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14 %

จากข้อมูลสิ้นปี 2559 ร้านเซเว่นสาขาที่บริหารเอง 4,200 สาขา คิดเป็นสัดส่วน 44 % สาขาแฟรนไซต์ 4,600 สาขา สัดส่วน 49 % ที่เหลือเป็น การรับสิทธิช่วงอาณาเขต 692 สาขา หรือ 7 % และจากตัวเลขทั้งหมด เป็นการตั้งในทำเลปกติ 8,210 สาขา หรือคิดเป็น 86 % ที่เหลือเป็นการตั้งในปั๊มปตท . 1,332 สาขา คิดเป็น 11 %

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ มองว่ามีผลกระทบด้านกำไร ของซีพีออลล์ ประมาณ 4 -5 % ตามการคาดการณ์กำไรปีนี้ที่ 2 หมื่นล้านบาท บวกกับระยะเวลาช่วง 6 ปี ก่อนหมดสัญญามีการขยายสาขาในปั๊มปตท. เป็น 1,700 แห่ง จึงยังไม่น่าห่วงในระยะสั้น ดังนั้นราคาหุ้นแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมายกลางปี 2561 ที่ 77 บาท

เช่นเดียว กับ บล.ทรีนีตี้ มองผลกระทบระยะสั้นแต่ระยะยาว ซีพีออล์เติบโตได้จากผลการดำเนินงานของร้านสะดวกซื้อ และจากธุรกิจค้าส่ง แม๊คโคร กรณีหากไม่มีสาขาในปั๊มปตท. จริงรายได้ที่ลดลงในอนาคตก็จะอยู่บนฐานที่สูงขึ้นจากเป้าที่บริษัทจะขยายสาขาให้ถึง 13,000 สาขา ภายในปี 2564 ในกลุ่มพื้นที่สแตนอโลน แนะนำรอจังหวะเข้าซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 71 บาท

มองในมุมลึกถึงโมเดลทางธุรกิจที่ทางปตท. ขอเดินแยกจากเซเว่นฯ และดันแบนด์ตัวเองขึ้นมาเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางสร้างแบนด์ ก็ไม่น่าแปลกใจ ขณะที่ซีพีออลล์ แม้จะกระทบรายได้ในอนาคตอีก 6 ปีข้างหน้าเป็นปัจจัยลบที่รับรู้อยู่และคงไม่ปล่อยให้สัดส่วนที่หายไป 11 % มาสะเทือนธุรกิจเพราะถึงอย่างไรธุรกิจนี้เป็นลูกรักที่สร้างกำไรคืนกลับบริษัทแม่ เครือซีพีไม่น้อย