ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมจีนไม่มีสูตรเดียว

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมจีนไม่มีสูตรเดียว

วงนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีนมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเรื่องยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มอนุรักษ์นิยมมองว่า

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลมีความสำคัญต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้า กลับมองว่า รัฐบาลควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดจะดีกว่า อย่าเข้ามายุ่งให้มากเรื่องเลย

ศ.หลิน อีฟู อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก และเป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เป็นคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าสนับสนุนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาล แต่แท้จริงแล้ว ศ.หลิน อีฟู ย้ำเน้นเสมอว่า จะต้องใช้กลไกตลาดเป็นตัวนำ รัฐบาลเล่นบทเสริมให้เหมาะสม โดยยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะมีสูตรเดียวตายตัว รัฐบาลรวมทั้งบริษัทควรวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับลักษณะของอุตสาหกรรมแต่ละอย่าง

ล่าสุด ในงานเสวนาที่จัดโดยทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ศ.หลิน อีฟู ได้ออกมาแบ่งประเภทภาคการผลิตของจีนเป็น 5 กลุ่ม โดยรัฐบาลและบริษัทควรต้องวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับลักษณะของภาคการผลิตแต่ละกลุ่ม

กลุ่มแรก คือ ภาคการผลิตของจีนที่ยังมีระดับเทคโนโลยีต่ำกว่าตะวันตกมาก ในปัจจุบัน GDP ต่อหัวของจีน ยังห่างไกลจาก GDP ต่อหัวของสหรัฐ และของเยอรมนีอยู่มาก แม้ว่าจีนจะมีอุตสาหกรรมหลายอย่างเหมือนกับที่ประเทศเหล่านั้นมี แต่รายได้ของแรงงานในประเทศเหล่านั้นกลับสูงกว่าจีนมาก เพราะประเทศเหล่านั้นมีผลิตภาพแรงงานสูง เนื่องจากมีระดับเทคโนโลยีสูงกว่าจีน และมีการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้า

ศ.หลินอีฟู เสนอว่า มี 4 วิธี ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมจีนที่มีเทคโนโลยีล้าหลังให้ทัดเทียมกับตะวันตก ได้แก่

1) ให้บริษัทจีนเข้าไปซื้อหรือเทคโอเวอร์บริษัทต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีที่สูงกว่า เพื่อนำเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านั้นมาใช้พัฒนาสินค้าของบริษัทจีนต่อไป

2) ไปตั้งศูนย์วิจัย R&D ในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อดึงดูดบุคลากรในประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาทำงานให้แก่บริษัทจีนในการพัฒนาเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า Haier ของจีน มีศูนย์ R&D ทั้งในเยอรมนีและสหรัฐ

3) ดึงดูดบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีในระดับที่สูงกว่าบริษัทจีน เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศจีน

4) ส่งเสริมให้บริษัทจีนทำ R&D ด้วยตัวเอง

กลุ่มที่ 2 คือ ภาคการผลิตของจีนที่มีระดับเทคโนโลยีเหนือกว่าต่างชาติ นั่นคือ เป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทจีนยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก บริษัทจีนที่อยู่ในกลุ่มนี้ จะต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อคงสถานะความเป็นผู้นำในตลาด

สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องทำเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในกลุ่มนี้ คือ ส่งเสริมการวิจัยพื้นฐาน (Fundamental research) ในมหาวิทยาลัยและหน่วยวิจัยของจีน เพราะการจะพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในระดับสูงขึ้นไป ซึ่งไม่มีใครให้เลียนแบบ จำเป็นต้องมาจากผลการวิจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ

กลุ่มที่ 3 คือ ภาคการผลิตของจีนที่ต้องปรับตัว ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ในสมัยก่อน จีนมีแรงงานราคาถูก จึงเคยได้เปรียบในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่ในปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความได้เปรียบนี้ค่อยๆ หายไป

อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้จะพัฒนาต่อไปได้ มี 2 วิธี วิธีแรก คือ บริษัทจีนที่เก่งหน่อย จะต้องพยายามเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าราคาถูก ที่เคยเน้นจับตลาดล่าง ไปสู่การจับตลาดบน หันมาผลิตสินค้าคุณภาพที่มีราคาสูงขึ้น โดยอาศัยการสร้างแบรนด์ การออกแบบแพ็คเกจจิ้ง หรือพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ เพิ่มคุณภาพสินค้า

อีกวิธีหนึ่ง ก็คือ บริษัทจีนต้องย้ายโรงงานจากพื้นที่ที่ค่าแรงสูง ไปสู่พื้นที่ที่ค่าแรงต่ำ นั่นคือ ย้ายจากพื้นที่ทางตะวันออกของจีน ซึ่งค่าแรงสูง ไปสู่พื้นที่ตอนในและภาคตะวันตกของจีน รวมทั้งไปยังประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ One Belt One Road ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนและเอเชียกลาง ยังมี GDP ต่อหัวไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ GDP ต่อหัวของจีน ดังนั้น จึงต้องขยายการลงทุนของทุนจีนไปยังประเทศเหล่านี้

กลุ่มที่ 4 คือ ภาคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่จีนกับประเทศตะวันตกเริ่มต้นพร้อมๆ กัน สามารถแข่งขันกันได้ทันที หรือจีนอาจเหนือกว่าด้วยซ้ำ โดยหลังจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เทคโนโลยีโทรคมนาคมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดสินค้าหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เวลาคิดค้นหรือพัฒนาสั้น การลงทุนใช้ทุนมนุษย์ (ทักษะของแรงงานชั้นสูง) เป็นสำคัญ ไม่ต้องอาศัยการลงเงินทุน แรงงาน หรือเครื่องจักรจำนวนมากอย่างในอดีต

จีนมีความได้เปรียบต่างชาติในภาคเศรษฐกิจใหม่ เพราะจีนได้เปรียบเรื่องทุนมนุษย์ การศึกษาของจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สามารถผลิตแรงงานชั้นสูงได้ไม่แพ้ประเทศตะวันตก จีนยังมีจำนวนประชากรมหาศาล ทำให้มีโอกาสที่จะมีคนเก่งจำนวนมาก รวมทั้งเกิดไอเดียสินค้าหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จำนวนมากด้วย

นอกจากนั้น ตลาดภายในประเทศจีนยังมีขนาดมหึมา เมื่อมีการคิดสินค้าหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ก็สามารถพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ขยายตลาด ใช้ประโยชน์จาก Economies of Scale ได้ อีกทั้งในจีน มีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนครบทุกชิ้นส่วน และมีความสามารถในการประกอบชิ้นส่วนสูง ดังนั้น ขอเพียงผู้ประกอบการจีนมีไอเดียใหม่ๆ ก็สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วางขายภายในประเทศจีนได้อย่างรวดเร็ว

ภาคเศรษฐกิจใหม่ เป็นภาคการผลิตที่มีบริษัท startup จำนวนมาก ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต้องเน้นผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ส่งเสริมให้มี startup ecosystem ที่ดี ไม่ใช่จะทำอะไรใหม่ ก็ติดอุปสรรคเต็มไปหมด

กลุ่มที่ 5 คือ ภาคการผลิตที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ มีระยะเวลาในการคิดค้นวิจัยยาวนาน ใช้เงินทุน เครื่องจักร และทุนมนุษย์มหาศาล แต่จีนก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1) ภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น ภาคพลังงานสะอาด ภาควัสดุขั้นสูง (advanced materials) ภาคชีววิศวกรรม (Bioengineering) ภาคอุตสาหกรรมการบินหรืออุตสาหกรรมต่อเรือ ซึ่งในภาคการผลิตเหล่านี้ เอกชนสามารถเข้าร่วมได้ แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ

2) ภาคอุตสาหกรรมทหาร ได้แก่ อาวุธ เรือดำนำ เครื่องบินรบ ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล รัฐบาลต้องอุดหนุนมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็คล้ายกับการอุดหนุนอุตสาหกรรมทหารของรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้ว

ศ.หลิน อีฟู สรุปว่า ในภาคการผลิตส่วนใหญ่ ต้องใช้กลไกตลาดเป็นตัวหลัก โดยรัฐเล่นบทเสริม และต้องเสริมให้เหมาะสมกับลักษณะของภาคการผลิตแต่ละประเภทดังที่กล่าวมา ไม่ใช่ใช้สูตรเดียวตายตัว

มองมาที่ไทย ท่านกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ซึ่งมีหลายชุดจนผมงง) กำลังคิดสูตรยุทธศาสตร์กันอย่างไรบ้างครับ?