อย่ามัวถกเถียง...เดินหน้าแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

อย่ามัวถกเถียง...เดินหน้าแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมากจากในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ผลผลิตข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์

เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์มีเพิ่มมากขึ้นจากที่ไทยเคยผลิตข้าวโพดได้เพียงพอหรือบางช่วงก็สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้โดยพ่อค้าคนกลาง ก็กลับไม่เพียงพอกับการใช้ในประเทศ โดยปริมาณผลผลิตข้าวโพดที่ผลิตได้เพียงปีละ 4.57 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้สูงถึงราวๆ 8 ล้านตัน 

เหตุนี้ทำให้โรงงานอาหารสัตว์จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นมาใช้ทดแทน อาทิ ข้าวสาลี กากข้าวโพดหมักยีสต์ เพื่อให้สามารถผลิตอาหารสัตว์ได้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีมาตรการให้โรงงานอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อสิทธิการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือมาตรการ 3 ต่อ 1 เพื่อปกป้องคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยในปี 2559 กรมปศุสัตว์ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตนำเข้า ได้เก็บตัวเลขการนำเข้าข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์พบว่ามีปริมาณเพียง 3.4 ล้านตัน เท่านั้น

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าในธุรกิจอาหารสัตว์จะแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพและราคา การผลิตอาหารสัตว์จะใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ทั้งรำข้าว มันสำปะหลัง ข้าวสาลี กากข้าวสาลี (DDGS) และต้องนำเข้ามาตามส่วนประกอบของสูตรอาหารสัตว์ที่มีเป็นร้อยสูตร แม้วัตถุดิบบางตัวจะราคาถูก แต่ก็ใช้ในมากเกินไปไม่ได้เพราะจะกระทบกับสัตว์

แต่กลับพบว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ระงับการนำเข้าข้าวสาลี ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะส่งผลให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรในประเทศน้อย จนทำให้ราคาผลผลิตที่ตกต่ำนั้น อธิบดีกรมการค้าภายใน ก็ยืนยันไปก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่สามารถระงับการนำเข้าได้ เพราะผิดข้อผูกพันที่ไทยทำไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามที่ได้ผูกพันไว้ เว้นแต่เหตุผลด้านความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์พืชและสัตว์ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ที่สำคัญปริมาณผลผลิตข้าวโพดในประเทศนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้จึงต้องนำเข้ามามาทดแทน

นอกจากนี้ ยังมีการกระแซะถามถึงโรงงานอาหารสัตว์ว่ามีการจัดเกรดข้าวโพด จนทำให้เกษตรกรขายได้ราคาต่ำกว่า 8.00 บาท เรื่องนี้เมื่อสอบถามไปที่สมาคมอาหารสัตว์และสมาชิก ทั้งหมดตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกคนยังคงสนับสนุนมาตรการ 3 ต่อ 1 และให้ความร่วมมือในการรับซื้อข้าวโพดโดยตลอด รวมทั้งยังประกาศรับซื้อข้าวโพด ราคา 8.00 บาท ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเขตอื่นๆราคาก็ลดหลั่นกันไปตามระยะทาง 

ส่วนเรื่องการจัดเกรดข้าวโพดนี้เป็นเรื่องปกติที่พ่อค้าพืชไร่รับรู้อยู่แล้ว ว่านอกจากการพิจารณาสิ่งเจือปนที่โรงงานอาหารสัตว์แจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว โรงงานก็จะวัดตามความชื้นของเมล็ดข้าวโพดด้วย ถ้าชื้นต่ำราคาก็สูง ชื้นมากราคาก็ต่ำ เรียกว่าเมื่อไม่ได้มาตรฐานราคาก็ต้องลดหลั่นกันไป ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็คงไม่มีอาชีพพ่อค้าที่รับซื้อข้าวโพดมาอบแห้งก่อนส่งขายโรงงานอาหารสัตว์ และเรื่องวัดความชื่นนี่ก็ทำกันอย่างโปร่งใสวัดความชื้นกันเห็นๆ ไม่ใช่ว่าผีถึงป่าช้าแล้วจำเป็นต้องขาย เรื่องที่ว่าเกษตรกรได้ราคาต่ำนี้จึงเป็นเพียงข้ออ้างของพ่อค้าคนกลางที่ไปรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคาต่ำๆ เพื่อมาทำกำไร ไม่ใช่ต่ำเพราะโรงงานอาหารสัตว์

อันที่จริงการนำเข้าข้าวโพดเป็นสิทธิที่กลุ่มพ่อค้าสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย จะนำเข้ามาเพื่อขายให้โรงงานอาหารสัตว์ในราคาสูงก็ได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาไว้ หรือถ้าคุณภาพเมล็ดไม่ดีพอที่จะขายในประเทศ พ่อค้าก็สามารถนำไปส่งออกได้ทันที เท่ากับว่าซื้อมาขายไปอย่างไรก็ได้ให้ได้กำไรเป็นพอ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบห่วงโซ่อาหารทั้งห่วง คือไม่ต้องห่วงว่าคนข้างหลังจะเป็นอย่างไร 

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าพ่อค้าพืชไร่มีการนำเข้าข้าวโพดมากว่า 30 ปีแล้ว นั่นแสดงว่าเมื่อ เมื่อ 30 ปีก่อน พ่อค้าก็มีการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง และต้องไม่ลืมว่า WTO เกิดชึ้นเมื่อปี 2538 

ดังนั้น หมายความว่าพ่อค้าพืชไร่มีการนำเข้ามาก่อนเกิด WTO ซึ่งขณะนั้นภาษีนำเข้าสูงมาก และเป็นไปไม่ได้ที่พ่อค้าจะนำเข้ามาโดยยอมเสียภาษีที่สูงลิบลิ่ว แน่นอนว่าก็ต้องลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศพม่าและกัมพูชา เวลาต่อมาเมื่อเกิด AEC ขึ้น มีการลดภาษีนำเข้าเป็น 0% และไม่มีโควต้านำเข้า แต่พ่อค้าพืชไร่ก็ยังลักลอบนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการนำเข้าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยเฉพาะในช่วงที่ห้ามนำเข้าคือช่วงเดือน ก.ย. ถึงเดือนม.ค. เพื่อปกป้องเกษตรกรไทย นี่จึงเป็นการยอมรับของกลุ่มพ่อค้าพืชไร่ว่ามีการลักลอบจริง

สำหรับเรื่องที่ถูกกล่าวอ้างว่ารถบรรทุกข้าวโพดต้องไปรอลงสินค้าที่โรงงานอาหารสัตว์ 5-10 วัน ถ้าคุณภาพไม่ผ่านก็ไม่รับซื้อทำให้ต้องย้ายไปขายให้ผู้ส่งออกในราคาต่ำลง เรื่องนี้ต้องมองให้ลึกลงไปถึงปัญหา เพราะข้าวโพดที่ว่านี้เป็นข้าวโพดที่ลักลอบนำเข้ามาจนปริมาณล้นตลาดในประเทศ แต่กลับถูกแอบอ้างว่าเป็นข้าวโพดจากเกษตรกรไทย แถมยังปัดภาระให้รถมาจอดตกค้างอยู่หน้าโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อให้กลายเป็นข้ออ้างไปกดราคาชื้อจากเกษตรกรไทยในราคาถูกกว่าราคาตลาดที่โรงงานอาหารสัตว์แจ้ง ที่สามารถเปรียบเทียบราคาจริงที่พ่อค้าชื้อ ณ พื้นที่ปลูกได้ว่า “ต่ำกว่า” ราคาที่โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตรงกับราคาที่เกษตรกรขายให้กับพ่อค้าได้เพียง 6-7 บาท

กว่าจะเป็นสินค้าปศุสัตว์ได้นั้นต้องเริ่มจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ ป้อนการเลี้ยงสัตว์ เข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปเป็นเนื้อสัตว์ กลายเป็นอาหารสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้น ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นแค่ข้อต่อหนึ่งของห่วงโซ่ หากจัดการไม่ดี ทั้งในด้านราคาและมาตรฐาน ก็จะมีผลกระทบต่อการแข่งขันของการส่งออกธุรกิจปศุสัตว์ ซึ่งเป็นธุรกิจต่อเนื่องที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน จึงเป็นธุรกิจที่สำคัญและมีผู้เกี่ยวข้องนับล้านคน ซึ่งต้องมีการช่วยกันดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่ 

วันนี้อย่ามัวมาถกเถียงกันในเรื่องนี้ว่าใครผิดใครถูก แต่ควรเดินหน้าแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ...แทนที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน