ตลท.ส่งมาตรการใหม่ สกัดบริษัทเล่นตุกติกงบการเงิน

ตลท.ส่งมาตรการใหม่ สกัดบริษัทเล่นตุกติกงบการเงิน

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม ktlive จ-ศ 14.00-14.30 น.

การลงทุนในบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้เท่าทันหนีไม่พ้นเรื่องการอ่านงบการเงินให้เป็น และวิเคราะห์ได้ว่ามีแนวโน้มอย่างไร  ซึ่งในวงการนักบัญชีว่ากันว่าคำพูดผู้บริหารอาจจะพลิกไปมาทำให้คนฟังเคลิ้มตามหรือวกไปวนมาจนงงงวย  แต่ตัวเลขทางบัญชีมันโกหกกันไม่ได้

ที่ผ่านมายอมรับว่าการจะไปขุดคุ้ย รื้อดูตัวเลขทางบัญชีต้องใช้เวลา ทำการบ้านหนัก บางครั้งพบแล้วแต่ก็ยังต้องมาวิเคราะห์จากตัวเลขอีก ทำให้นักลงทุนรวมไปถึงผู้สื่อข่าวก็ละเลยในจุดนี้ไป 

ทำให้หลายเคสที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนที่เล่นแร่แปรธาตุในงบการเงิน  จากขาดทุนหนัก ๆ ส่วนทุนติดลบมโหราฬพลิกกลับมามีกำไรเพียงแค่ลงบัญชีว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นรายได้ทางบัญชีที่ไม่มีเงินจริงๆ บ้าง หรือรายได้จากในอนาคตที่ไม่ชัดว่าจะได้ตัวเลขตามนั้นหรือไม่ แต่ทำให้บริษัทเหล่านั้นรอดตัวกลับมาฟื้นได้ด้วยฐานทางการเงินที่ดูดี น่าสนใจ และน่าลงทุนทันที

ดังนั้นการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศจะออกเกณฑ์ใหม่ จึงถือว่าเป็นผลงานที่น่าชื่นชมในปีนี้  เพราะเป็นการดึงเอาตัวเลขทางบัญชีมาชี้ให้นักลงทุนเห็นแนวโน้มของบริษัทนั้นๆ โดยพุ่งเป้าไปที่จุดสำคัญ ไม่ต้องมายุ่งยากดูรายละเอียดให้นักลงทุนนั่งปวดหัว เพราะไม่ใช่นักบัญชีที่อ่านแล้วจะเข้าใจได้ทันที

ก่อนหนน้านี้มีการใช้เกณฑ์เตือนนักลงทุนแล้วแต่เป็นการเตือนหลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว กว่าข้อมูลจะไปถึงนักลงทุน บริษัทเหล่านั้นสร้างความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นไปมากมาย  

ช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา ตลท. ได้ใช้เกณฑ์ในการดูแลกำกับบริษัทจดทะเบียน แบ่งเป็น ข้อสอบถามจากตลาดหลักทรัพย์ 79 ครั้ง  การขึ้นเครื่องหมาย แยกเป็น หยุดการซื้อขายชั่วคราว หรือ Halt จำนวน 1 ครั้ง  หยุดพักการซื้อขาย หรือ Suspension จำนวน 305 ครั้ง และ รอคำชี้แจงหรือข้อมูลจากผู้ออกหลักทรัพย์ หรือ Notice Pending จำนวน 120 ครั้ง

ขณะที่หลักเกณฑ์ใหม่ที่จะออกมาเป็นการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าบริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้นลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีผลกระทบต่อแนวโน้มว่าส่วนผู้ถือหุ้นจะติดลบได้ และจะนำไปสู่การออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในที่สุด  ตามข่าวมีความเป็นไปได้อาจจะเป็นการขึ้นเครื่องหมายเพื่อแจ้งเตือนนักลงทุน และหามาตรการอื่นๆ คาดว่าจะนำมาใช้จริงภายในสิ้นปีนี้

ตามปกติการที่บริษัทมีส่วนทุนลดลงจนต่ำกว่าศูนย์ และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็นในงบการเงินติดต่อระยะเวลา 3 ปี  หรือสินทรัพย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดพักการซื้อขาย  7 วัน  เพื่อประกาศว่าบริษัทต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานระยะที่ 1 (NC)  จนถึงระยะที่ 3 ซึ่งจะกินเวลาไม่เกิน 4 ปี  นับตั้งแต่วันที่ประกาศ NC ระยะที่ 1

ระยะเวลาระหว่างนั้นบริษัทต้องระบุว่าจะฟื้นฟูกิจการอย่างไร เช่น จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ หรือฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลาย ถ้าบริษัทได้แจ้งทางเลือกแล้ว ตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาอนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่หยุดการซื้อขาย ต่อไป

โดยระยะเวลาที่ยาวนานและยังมีขั้นตอนที่ต้องปรับปรุงฐานะทางการเงินอีก ทำให้เห็นความยุ่งยากหากนักลงทุนยังลงทุนในบริษัทนี้ต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วหากยังแก้ไขเหตุเพิกถอนไม่ได้ ตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการเพิกถอนจากบริษัทจดทะเบียนในที่สุด

ดังนั้นเรียกได้ว่ามาตรการใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์จะนำมาใช้ทำให้นักลงทุน  เห็นช่องโหว่งของบริษัทที่อาจจะเกิดผลเสียตามมาต่อผลประกอบการ ทำให้เกิดการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนในบริษัทนี้ต่อไปก็ได้

ตามมาตรการดังกล่าวเมื่อลองไปไล่ดูข้อมูลบริษัทจดทะเบียนพอจะเห็นว่าบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นลดลงเรื่อยจะมีผลประกอบไม่ค่อยดี หรือขาดทุนไปเลย ส่วนนี้พอจะเห็นภาพที่ชัดเจน    แต่บ้างกรณีมีบริษัทที่ส่วนทุนปรับลดลงเรื่อยๆแต่ยังมีกำไรอยู่ หากตลาดหลักทรัพย์จะใช้มาตรการดังกล่าวกับบริษัทนี้   อาจจะเจอการยืนยันจากผู้บริหารว่าธุรกิจที่ทำอยู่ไม่ได้แย่หรือต้องขาดทุนในอนาคต อาจจะเป็นเรื่องโต้แย้งได้

นักบัญชีจึงแนะนำว่าให้นักลงทุนตรวจสอบกระแสเงินสดอีกด้านไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากในส่วนนี้สะท้อนว่ามีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายเพียงพอหรือไม่  ซึ่งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมาจากสองส่วน คือ จากธุรกิจที่ดำเนินอยู่มีรายได้เข้ามา กับเงินกู้ยืม ในรูปแบบต่างๆ  ดังนั้นหากเงินกู้ยืมสูงกว่าเงินจากธุรกิจที่ดำเนินอยู่  เป็นคำถามสำคัญว่าบริษัทจะหาแหล่งเงินทุนจากไหนมาใช้จ่ายในธุรกิจ

กรณีหากหาได้ด้วยเงินกู้ยืมจะกลายเป็นบริษัทที่ดำเนินได้ด้วยหนี้    ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงตามมาว่าหากหนี้เกิดมีปัญหาสถาบันไม่ปล่อยกู้ หรือผิดนัดชำระหนี้จนไม่สามารถแหล่งเงินกู้ได้  บริษัทนั้นจะขาดสถาพคล่องทันที  และจะมีผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรมีปัญหาตามมาในที่สุด

ดังนั้นนักลงทุนสามารถเปรียบเทียบดูงบการเงินได้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งจากมาตรการใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศออกมาด้วยการดูจากส่วนทุนผู้ถือหุ้น  และงบกระแสเงินสด  เพื่อสะท้อนว่าบริษัทดังกล่าวแข็งแรงจริงตามที่ประกาศไว้หรือไม่ และไม่สามารถนำตัวเลขในอนาคตมาหลอกนักลงทุนได้อีก