ทีมดาราศาสตร์ไทยกับ The Great American Total Eclipse!

ทีมดาราศาสตร์ไทยกับ The Great American Total Eclipse!

คนอเมริกันตื่นเต้นกันจริง ๆ กับ The Great American Total Eclipse หรือสุริยุปราคาเต็มดวงปีนี้...ครั้งแรกใน 38 ปี

ผมคุย Facebook Live กับ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่ยกทีมไปปักหลักที่รัฐโอเรกอนก่อนปรากฏการณ์จริงไม่กี่ชั่วโมง ก็สัมผัสได้ถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของคนอเมริกันและผู้สนใจจากทั้งโลก

มันเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และน่าทึ่งจริง ๆ นักดาราศาสตร์ระดับนำของไทยท่านนี้บอกผม

คุณศรันย์บอกผมด้วยว่าเมืองไทยมีปรากฏการณ์เช่นนี้เมื่อปี 2538 (ซึ่งผมก็ไปรายงานสดที่โคราชออกทีวีขณะนั้น) และอีกครั้งหนึ่งก็ 53 ปีจากนี้ไป

ผมยังแซวคุณศรัณย์ว่าเขากับผมจะต้องหายใจไปเรื่อย ๆ เพื่ออยู่ถึงวันนั้น...และแม้จะอยู่ไม่ถึงสุริยุปราคาเต็มดวงในเมืองไทยครั้งหน้า เราก็ต้องสร้างอะไรให้คนไทยรุ่นต่อไปได้ประสบการณ์สุดยอดอย่างที่คนอเมริกันได้เห็นเมื่อวานนี้

ทีมงานของคุณศรัณย์รายงานเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (21-22 สิงหาคม) ได้อย่างรอบด้านว่า

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ วัดพุทธโอเรกอน สหรัฐอเมริกา สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ มีชาวอเมริกัน นักดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก แห่ชมปรากฎการณ์อย่างคึกคัก คราสเต็มดวงพาดผ่านกลางสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ฝั่งตะวันตกจนถึงตะวันออก นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งยิ่งใหญ่ที่พาดผ่านแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในรอบ 38 ปี

 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. นำทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เดินทางมาเก็บข้อมูลและศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สหรัฐอเมริกา ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2560 ตามเวลาประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณวัดพุทธโอเรกอน เมืองซาเลม รัฐโอเรกอน อยู่ทางทิศตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางของแนวคราสเต็มดวงประมาณ 2 กิโลเมตร

 ดร. ศรัณย์ เปิดเผยว่า สดร. ได้วางแผนเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ มีการนำกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์วัดความสว่างท้องฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่าง ๆ และศึกษาพื้นที่บริเวณแนวคราสเต็มดวง เพื่อตั้งจุดสังเกตการณ์ รวมทั้งศึกษาสภาพอากาศที่มีความเป็นไปได้ที่สุดสำหรับการศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้

 บรรยากาศการเฝ้าสังเกตการณ์สุริยุปราคาบริเวณวัดพุทธโอเรกอน เต็มไปด้วยชาวไทยในโอเรกอนและใกล้เคียง ชาวอเมริกัน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาจับจองพื้นที่เพื่อเฝ้าชมสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ตั้งแต่คืนก่อนวันเกิดปรากฎการณ์ 100 กว่าชีวิต มีทั้งครอบครัวที่เดินทางไกลมาจากรัฐต่าง ๆ ในอเมริกา เพื่อมาดูปรากฎการณ์นี้โดยเฉพาะ

บางครอบครัวประดิษฐ์อุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์ทางอ้อมมาใช้ดูสุริยุปราคา สำหรับวันนี้ ขณะเกิดสุริยุปราคา ทัศนวิสัยท้องฟ้าดีมาก ฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถชมปรากฎการณ์ได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์

ก่อนคราสเต็มดวง สามารถสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ข้างเคียงได้อย่างชัดเจน เช่น ปรากฎการณ์เงาเสี้ยว (Crescent Shadows) ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect) ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily's Beads) ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง สามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ด้วยตาเปล่า เห็นชั้นบรรยากาศและพวยแก๊สของดวงอาทิตย์ รวมถึงชั้นโคโรนาอีกด้วย

นอกจากนี้ ขณะเงามืดของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด ท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวฤกษ์หลายดวงสว่างอยู่กลางท้องฟ้าเป็นเวลานานเกือบ 2 นาที

เป็นที่น่าประทับใจสำหรับผู้ที่มาเฝ้าชมปรากฎการณ์เป็นอย่างมาก

 ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 21 สิงหาคม 2560 (ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา) หรือคืนวันเดียวกันตามเวลาประเทศไทย แต่ช่วงที่คราสเต็มดวงจะล่วงเข้าสู่วันที่ 22 สิงหาคม 2560 ตามเวลาประเทศไทย เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 22/77 ในชุดซารอสที่ 145 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านสหรัฐอเมริกา และมหาสมุทรแอตแลนติก

คราสบางส่วนครอบคลุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ตอนเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก และด้านตะวันตกของยุโรปและแอฟริกา แนวคราสเต็มดวงจะเริ่มจากตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสพื้นโลกทางทิศตะวันตกของสหรัฐอเมริกา บริเวณลินคอล์น บีช รัฐโอเรกอน เวลา 9:05 a.m. PDT (23:05 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2560 ตามเวลาในประเทศไทย) คราสเต็มดวงเริ่มตั้งแต่เวลา 10:16 น. a.m. PDT (00:16 น. วันที่ 22 สิงหาคม ตามเวลาในประเทศไทย) หลังจากนั้นพาดผ่าน 14 รัฐ ได้แก่ โอเรกอน ไอดาโฮ มอนทานา ไวโอมิง เนบราสกา เคนซัส ไอโอวา มิสซูรี อิลลินอยส์ เคนตักกี เทนเนสซี นอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย และเซาท์แคโรไลนา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงทางทิศตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เวลา 2:48 p.m. EDT (01:48 น. วันที่ 22 สิงหาคม ตามเวลาในประเทศไทย) และเงาของดวงจันทร์จะออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์ เวลา 4:09 p.m. EDT (03:09 น. วันที่ 22 สิงหาคม ตามเวลาในประเทศไทย) คราสเต็มดวงกินเวลานานที่สุดบริเวณทางใต้ของเมืองคาร์บอนเดล รัฐอิลลินอยส์ ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงนานถึง 2 นาที 40.2 วินาที สำหรับประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้

 สำหรับสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 คราสเต็มดวงพาดผ่านบางส่วนของสาธารณรัฐชิลี และอาร์เจนตินา สุริยุปราคาเต็มดวงในสหรัฐอเมริกาครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2567 ส่วนประทศไทยต้องรอไปอีก 53 ปี จึงจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 11 เมษายน 2613

ใครสนใจจะรอดูสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยวันนั้นบ้าง? ยกมือขึ้น!