พลิกกฎองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ตอนที่ 2)

พลิกกฎองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ตอนที่ 2)

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งใช้มาเป็นเวล 6 ปีกว่าและเป็นการปฏิรูปองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศไทยครั้งสำคัญ ในคราวก่อน ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นที่มีการแก้ไขตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ 2 ประเด็นคือ องค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ฉบับดังกล่าวเพิ่มเติมดังนี้

ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมายใหม่ได้มีการแก้ไขหลายประการซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการจัดสรร การใช้และการบริหารคลื่นความถี่ ประการแรก มาตรา 27 (1) เดิมได้ถูกยกเลิกไป ตามมาตรา 27 (1) ใหม่ นอกจากจะกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการ “จัดทำแผนแม่บทการบริการคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุและแผนเลขหมายโทรคมนาคม” เช่นเดิมแล้ว ยังกำหนดอีกด้วยว่า กสทช. จะต้อง “ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว แต่แผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ด้วย 

ส่วนที่เพิ่มเติมมานั้น เป็นการเน้นย้ำว่า กสทช. จะกำหนดแผนแม่บทต่างๆ ขึ้นเองไม่ได้ แต่จะต้องอ้างอิงกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเท่ากับว่านโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีศักดิ์สูงกว่าแผนแม่บทที่กำหนดโดย กสทช.

ทั้งนี้ ย้อนหลังกลับไปอีกนิด นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถูกกำหนดให้มีขึ้นโดยพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้ไปตั้งแต่ต้นปีและมีผลใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2560 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 5 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญต่างๆ หลายกระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ยังไม่รวมผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอีกอย่างน้อย 5 คนแต่ไม่เกิน 8 คนด้วย ดังนั้น กล่าวโดยสรุป กสทช. ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดแผนแม่บทในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอีกต่อไป แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่คณะกรรมการดิจิทัล ผ่านคณะรัฐมนตรี

แม้ว่ากฎหมายใหม่ดูเหมือนจะลดความสำคัญของ กสทช. ลง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจ กสทช. เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการเรียกคืนคลื่น กฎหมายใหม่ได้เพิ่มมาตรา 27 (12/1) ที่ขยายอำนาจให้แก่ กสทช. ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในแผนตามมาตรา 27(1) จากผู้ที่ได้รับอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ซึ่งมาตราดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการเรียกคืนคลื่นความถี่ซึ่งที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เนื่องจากฝ่ายผู้ที่ครอบครองคลื่นความถี่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกคืนคลื่นและฟ้องร้องต่อสู้เป็นคดีหลายครั้ง ทั้งนี้ มาตรา 27 (12/1) ที่เพิ่มเติมเข้ามานี้ น่าจะช่วยให้การเรียกคืนคลื่นความถี่เป็นไปอย่างเด็ดขาด และเป็นธรรมมากขึ้นเนื่องจากได้วางหลักการในการเรียกคืนคลื่นความถี่พร้อมทั้งกำหนดให้ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ทุกครั้งจะต้องมีการกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย อย่างไรก็ดี อำนาจเพิ่มเติมของ กสทช. นี้แม้จะชัดเจนยิ่งขึ้นและมีแนวโน้มที่จะลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ก็ยังต้องเป็นไปตามแผนแม่บท และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการดิจิทัลฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะส่งผลกระทบกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก 

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

********************

วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด