LNG ที่เปลี่ยนไป

ในช่วงที่กระแสลดโลกร้อนกำลังแรงขึ้น หลายๆคนอยากเห็นโลกและประเทศไทยก้าวกระโดดไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งต้นทุนก็ได้ลดลงมามากแล้ว ..

แต่เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยการดำรงชีวิตและการผลิตที่สำคัญมาก ทุกคนทุกฝ่ายอยากใช้ไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ ไม่มีใครยอมรับความเสี่ยงของสภาพไฟตกไฟดับ เพราะวิถีชีวิตประชาชนจะติดขัด ธุรกิจอุตสาหกรรมก็เสียหาย

ประกอบกับพลังงานหมุนเวียนอย่างแดดและลมยังไม่สามารถพึ่งพาได้อย่างเพียงพอ ระบบไฟฟ้าจึงต้องมี โรงไฟฟ้าฐาน ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวลาที่แดดไม่ออกลมไม่พัด

ดังนั้น โลกจะยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงหลักอย่างฟอสซิลไปอีกระยะหนึ่ง ..จนกว่าจะมีการพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีศักยภาพและราคาดีพอจนทำให้พลังงานหมุนเวียนสามารถพึ่งพาได้อย่างแท้จริง

ภายในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิลเองก็มีตัวเลือกที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาถ่านหินมักถือเป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะราคาถูกกว่าน้ำมัน-ก๊าซ และมีปริมาณสำรองในโลกสูงกว่า 150 ปี อีกทั้งได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตให้การปล่อยมลพิษต่างๆ ลดน้อยลงมาก เช่น “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” ที่ลดมลพิษอย่าง SOx หรือ NOx ..แต่ก็ไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนที่สร้างภาวะโลกร้อนได้

LNG เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ค่อนข้าง สะอาดคือปล่อยคาร์บอนเพียง 50% ของถ่านหิน จึงถือว่าเป็น bridge fuel หรือเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่โลกจะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% LNG (Liquefied Natural Gas) มาจากการแปรรูปก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลวในอุณหภูมิเย็นจัดที่ลดปริมาตรลงได้ถึง 600 เท่าเพื่อให้สามารถขนส่งระยะทางไกลๆ ที่ไม่คุ้มจะสร้างระบบท่อ ซึ่งเคยเป็นวิธีเดียวที่ใช้ขนส่งก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์

ในปี 1965 เชลล์เป็นบริษัทแรกที่ขนก๊าซอัดเหลว LNG จากอัลจีเรียไปขายที่อังกฤษ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาโครงการต่างๆ เรื่อยมา แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ เพราะแม้จะถูกกว่าการสร้างท่อข้ามมหาสมุทร แต่ก็ยังแพงมาก แต่ละโครงการลงทุนเป็นพันล้านเหรียญ พัฒนาหลายปี ต้องมีสัญญาซื้อระยะยาว 30 ปีสำหรับปริมาณที่จะผลิตทั้ง 100%

ล่าสุด ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์หลายด้านของ LNG ในปี 2016 LNG ที่ซื้อขายกันมีสัดส่วนของสัญญาระยะยาวเพียงราว 70% ของปริมาณผลิต World LNG Report - 2017 ของ International Gas Union รายงานว่าสัดส่วนตลาดจรและสัญญาระยะกลางสูงถึง 28%

“LNG ที่เปลี่ยนไปเป็นผลพวงจาก 2 ปรากฏการณ์ ได้แก่

  1.  อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2011 ที่ทำให้มีการหยุดดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ ในญี่ปุ่นเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย (และเยอรมนีเปลี่ยนนโยบายนิวเคลียร์) ทำให้เกิดความต้องการ LNG ในปริมาณสูงมากอย่างเฉียบพลัน
  2.  การปฏิรูปเทคนิค Fracking ทำให้สหรัฐผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานหรือ shale gas รวมทั้งน้ำมันออกมามากมายจน OPEC ต้องเคลื่อนไหว ทำให้ LNG ในตลาดเหลือเพราะสหรัฐเปลี่ยนจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออก 
  •  สถานการณ์เหล่านี้บังคับให้ตลาดต้องพัฒนา ทำให้ LNG มีตลาดที่ ลึกมากขึ้น ตลาดจรใหญ่ขึ้น
  • นอกจากนี้ ความต้องการที่พุ่งสูงจากเหตุการณ์ฟุกุชิมะและก๊าซที่เหลือจากปรากฏการณ์ shale gas ได้กระตุ้นให้เกิดโครงการ LNG ใหม่ๆ ทั่วโลก มีมูลค่ารวมกันถึง 750 แสนล้านเหรียญ หลายโครงการที่ลงทุนไปแล้วกำลังจะเข้าสู่การผลิต เช่น ในออสเตรเลีย สหรัฐ และรัสเซีย แต่ความต้องการของตลาดเติบโตไม่ทัน จึงเกิดสถานะ oversupply LNG กลายเป็นตลาดของผู้ซื้อ

คาดกันว่าราคา LNG จะตกต่ำไปอีกหลายปี หลังจากที่ต่ำลงมากกว่า 2 ใน 3 จากที่เคยสูงขึ้นไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล Wood Mackenzie) แม้ปีนี้โครงการใหม่ๆ ถูกยกเลิกไปบ้าง แต่ Moody’s คาดการณ์ว่าการผลิต LNG จะเพิ่มขึ้นเป็น 455 ล้านตัน/ปี ในปี 2020 เพิ่ม 44% ใน 5 ปี

  •  กระแสลดโลกร้อนมีส่วนทำให้ทั่วโลกหันมาใช้ LNG มากขึ้น แต่จะยังไม่มากพอ

จีนเองแม้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างมากก็ยังนำเข้า LNG มากขึ้นถึง 35% ในปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้เพิ่มภาษีถ่านหินนำเข้า มีการเสนอให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า และให้ปรับเกณฑ์ของการซื้อไฟฟ้าเข้าระบบให้รวมเรื่องมลภาวะมากขึ้นแทนที่จะเป็นต้นทุนอย่างเดียว อินเดียก็มีการลดภาษีศุลกากรของ LNG กึ่งหนึ่งจาก 5% เหลือ 2.5% เหล่านี้จะทำให้ราคา LNG สู้ถ่านหินได้มากขึ้น ...ทั้งนี้ “ภาษีคาร์บอน” ที่เริ่มมีในบางประเทศและจะแพร่หลายมากขึ้น จะทำให้จุดแข็งด้านราคาของถ่านหินลดน้อยลงไปอีก

  •  ใครจะรู้ว่า oversupply ที่เป็นอยู่นี้จะกดดันให้ผู้ผลิตและตลาด LNG ต้องพัฒนาต่อไปอีกขั้นไหมในอนาคต

ด้วยราคาที่ต่ำลงมาก ตลาดที่ “ลึก” ขึ้น และแหล่งผลิตที่กระจายรอบโลก ทำให้ LNG มีความมั่นคงขึ้น LNG ที่เปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบันทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลตัวนี้สามารถเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถ่านหินได้ในหลายกรณี..เช่นหากถ่านหินกระทบเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือขาดการยอมรับ

ประเทศไทยเองเริ่มมีการนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้า 5 - 6 ปีแล้ว รองรับสถานการณ์ก๊าซอ่าวไทยที่จะน้อยลงโดยธรรมชาติและด้วยการไม่พัฒนาแหล่งใหม่ๆ มาทดแทนเพราะรัฐบาลไม่เดินหน้าสัมปทานรอบ 21 อีกทั้งก๊าซที่เคยนำเข้าทางท่อจากพม่าก็จะลดน้อยลง เมื่อพม่าเศรษฐกิจเติบโตเนื่องจากการเปิดประเทศจึงต้องการเก็บก๊าซไว้ใช้เอง ยิ่งหากมีความล่าช้าในการบริหารสัมปทานอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุ ไทยก็จะต้องนำเข้า LNG อีกมากเพื่อทดแทนการผลิตที่จะชะงักลง

กระทรวงพลังงานมีแนวทางที่จะให้ ปตท.เตรียมนำเข้า LNG ผ่านการสร้างคลังในพม่าเพื่อเข้าสู่ระบบท่อที่มีอยู่แล้ว และให้ กฟผ.นำเข้า LNG เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าจะนะ เพื่อรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าไม่พอเนื่องจากความล่าช้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

นับว่าประเทศไทยได้เริ่มปรับกลยุทธ์ตาม “LNG ที่เปลี่ยนไปบ้างแล้ว แต่ควรจะมีการทบทวนนโยบายสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าด้วย ...แม้ล่าสุดมีการแถลงว่ากำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงใหญ่ที่มีอยู่แล้วในแผน PDP จะเพียงพอไปอีกนานเพราะเศรษฐกิจโตช้ากว่าสมมติฐาน ซึ่งก็ถูกใจหลายคนที่ไม่ชอบโรงไฟฟ้าใหญ่ แต่ก็ควรรับความเป็นจริงว่าถ่านหินมีปัญหาเรื่องการยอมรับในหลายพื้นที่ ขณะที่ก๊าซเป็นปัญหาน้อยกว่ามาก

ข้อโต้แย้งการเลือกรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง และเงื่อนไขไฟฟ้าพลังน้ำสติงนัมล้วนบ่งชี้ให้รัฐทบทวนการตัดสินใจว่าจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง? ซึ่งต้องรวมถึงสถานการณ์ LNG ที่เปลี่ยนไปด้วย