"แบงก์" พุ่งเป้าตลาดดิจิทัล ชิง "ลูกค้ารุ่นใหม่" หนุนรายได้

"แบงก์" พุ่งเป้าตลาดดิจิทัล ชิง "ลูกค้ารุ่นใหม่" หนุนรายได้

Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.00-14.30 น

642273_0_1503393333

สังคมไร้เงินสดฟังแล้วยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยที่ยังคุ้นชินกับการได้เห็น ได้สัมผัส สินทรัพย์ เงินทองของตัวเอง เพราะทุกคนยังกลัวว่าถ้าทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล ข้อมูลทุกอย่างจะไปอยู่บนเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งถ้าดูแลที่ไม่รัดกุมเพียงพอจะเจอการโจรกรรมข้อมูล ตามข่าวที่เห็นว่าโจรไซเบอร์ทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาแฮกข้อมูล และโอนถ่ายเงินออกจากบัญชีของเราไป สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล

ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงชีวิต แม้ระบบการเงินจะเสี่ยงเกิดปัญหาดังกล่าว แต่ภาครัฐและภาคธนาคารพยายามหาทางป้องกัน พร้อมผลักดันให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพื่อรองรับการเติบโตมากขึ้นในอนาคต

จากแนวโน้มอนาคตมีการคาดการณ์ว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกรรมทางการเงินในระบบดิจิทัลจะมีสัดส่วน 80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% โดยที่ผ่านมาธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง มีจำนวนบัญชี 20.88 ล้านบัญชี จากปีก่อนอยู่ที่ 13.91 ล้านบัญชี อินเทอร์เน็ตเป็น 15.90 ล้านบัญชี จาก 11.90 ล้านบัญชี

ดังนั้น เมื่อมองไปในอนาคต บรรดาธนาคารเห็นแนวโน้มแบบนี้คงไม่อยู่เฉยแน่นอน เพราะนั่นหมายถึง รายได้จากค่าธรรมเนียมมูลค่ามหาศาลที่จะเกิดขึ้น หากสร้างแพลทฟอร์มธุรกรรมให้ผู้ใช้บริการ เข้าถึงง่าย ใช้บริการไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีการป้องกันข้อมูลที่ดีพอ และตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้อย่างแท้จริง

หากพูดถึงการแข่งขัน ธนาคารกสิกรไทยดูจะนำมาก่อนกว่าเจ้าอื่นด้วยการรุกช่องทางโมบายแบงกิ้ง จนสามารถขยายฐานลูกค้าได้ 6 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 39% และปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 7.1 ล้านราย โดยเพิ่มบริการชำระเงินผ่านแอพพิเคชั่นด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดกับร้านค้าไม่ต่ำกว่า 2 แสนร้านเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกรรมเป็น 800 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้

ผลจากการทำตลาดก่อนรายอื่น ทำให้ธนาคารกสิกรไทยมีโครงสร้างรายได้มาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และมีสัดส่วนไม่ห่างจากรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยมานัก จากงบงวดครึ่งปี 2560 มีรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 46,431 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย หมายถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมและการให้บริการ อยู่ที่ 31,484 ล้านบาท

ด้านคู่แข่งธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มปักธงหันมาเพิ่มช่องทางดิจิทัล แบงกิ้งมากขึ้น แต่ที่เดินหน้าเต็มสูบคือในปีนี้ หลังจากดึง ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ' ตำแหน่ง รักษาการณ์ Chief Marketing Officer มาปั้นบริการดิจิทัลให้ธนาคาร ซึ่งที่ทำให้ฮือฮา คือการใช้พื้นที่ชั้น 2 สาขาธนาคารใจกลางสยาม ให้ Too Fast Too Sleep SCB นำไปบริหารจัดการโดยไม่คิดค่าเช่า

โดยผู้ใช้บริการจะจองใช้ผ่านระบบเชื่อมต่อกับธนาคารผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป แทบเล็ต รวมไปถึงการจ่ายอาหารและเครื่องดื่มสามารถชำระผ่านระบบพร้อมเพย์ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตของธนาคาร จนมาถึงการเปิดตัวใหญ่กับแอพพลิเคชั่น SCB EASY มาพร้อมกับการใช้จ่ายผ่านแอพฯ แทนบัตรเดบิตและบัตรเครดิต การได้รับส่วนลดสิทธิพิเศษการบริการนี้จากทางธนาคาร

รอบนี้ธนาคารไทยพาณิชย์มองเป้าผู้ใช้งานเป็น ล้านรายภายในสิ้นปี 2561 จากปัจจุบันมีผู้ใช้แล้ว 4 ล้านราย โดยเดือนส.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวนธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่น สูงสุดมากกว่า 1 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปีก่อน

โดยจะจูงใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการด้วยการฟรีค่าธรรมเนียมไปจนถึงสิ้นปี และการเปิดตัวบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตามมาอีกจำนวนมาก

การลงทุนในรอบนี้ไทยพาณิชย์ ทุ่มไปถึง 4,000 ล้านบาท มีการเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นเงินเดือนและแรงจูงใจ รวมไปถึงค่าการตลาดและการส่งเสริมการตลาดเพิ่มขึ้นในงบไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

การขยับตัวแรงของไทยพาณิชย์รอบนี้น่าจะหมายถึง ภาพลักษณ์ที่มีต่อลูกค้าเปลี่ยนไป ฐานการเงินปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งยังมีสัดส่วนที่ห่างจากรายได้ดอกเบี้ยอยู่มาก จากงบงวดครึ่งปีแรก มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 21,816 ล้านบาท ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 45,349 ล้านบาท

ดรวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงธุรกิจ จากเดิมธนาคารคิดเรื่องสินค้าบริการมาตอบสนองไม่ว่าจะ โอน จ่าย ชำระเงิน ซื้อสินค้า มีบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่ลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่นั้น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของทุกคน

หากต้องการเป็นธนาคารที่ไปได้ไกล ต้องมองมากกว่าตัวเองเป็นธนาคาร ทำตัวเองให้โดดเด่น ให้ลูกค้าใช้บริการที่หลากหลายและสะดวกสบายที่สุด ที่สำคัญต้องทำได้เร็ว คิดวันนี้ไปทำอีก 3 ปี ไม่มีความหมาย ทำเองหมดคนเดียวไม่ได้ ต้องมีพันธมิตร จึงเป็นที่มาว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องเปลี่ยนมายด์เซทในการดำเนินธุรกิจด้วย