บิซิเนส ทรานส์ฟอร์เมชั่น

บิซิเนส ทรานส์ฟอร์เมชั่น

ความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้เกิดขึ้นเกินกว่าที่คนในอดีตจะจินตนาการได้

นับจากยุคทางสายไหมที่พ่อค้าต้องรอนแรมเดินทางนานนับเดือนเพื่อเชื่อมโลกการค้าระหว่างจีนและยุโรปเข้าด้วยกัน มาถึงยุคนี้ที่มีทางรถไฟเชื่อม 2 ทวีปลดเวลาเดินทางลงได้มาก

แต่คงไม่มีใครคิดว่าความพยายามของจีนที่ต้องการหาทางค้าขายได้เต็มประสิทธิภาพจะเร่งการเดินทางกว่า 6,000 กิโลเมตรให้เหลือเพียง 14 วันได้สำเร็จผ่านโครงการ One Belt One Road (OBOR) ใช้การขนส่งเชื่อมโยงกันทางรถ ทางราง และทางเรือเข้าด้วยกัน

ผลที่ได้คือต้นทุนการทำการค้าของจีนที่ลดลงไปมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนที่อาจลดลงได้ถึง 1 ใน 3 ลดค่าเช่าโกดัง สต็อกสินค้า ช่วยให้หมุนเงินได้เร็วขึ้นมาก ธุรกิจจีนจึงยิ่งมีแนวโน้มที่จะได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในเวลานี้หากมีโอกาสได้ขึ้นไปภาคเหนือจะได้เห็นความคึกคักที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของนักธุรกิจจีนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเตรียมสร้างธุรกิจ การสร้างหรือขยายโรงงาน การหาผู้ร่วมทุน ฯลฯ ทำให้เงินจากนักลงทุนจีนสะพัดในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

หันมาดูธุรกิจไอทีโดยเฉพาะตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ซบเซามาต่อเนื่องหลังจากเติบโตถึงจุดสูงสุดในปี 2554 แล้วก็ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่าใครที่ปรับตัวไม่ทันก็ย่อมต้องเจ็บตัวเพราะอัตราส่วนกำไรขั้นต้นจากธุรกิจคอมพิวเตอร์นั้นต่ำมาก

แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ซึ่งการขายฮาร์ดแวร์อิ่มตัวมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันจะเห็นว่าท่ามกลางบริษัทไอทีที่ยังอยู่รอดได้ในปัจจุบันจะพึ่งพารายได้จากฮาร์ดแวร์ลดลงมากแต่หันไปเน้นรายได้จากการบริการและธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

การทำแอพก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มใช้เงินไปกับบริการออนไลน์ต่าง ๆ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นสมัยใหม่กันมากขึ้น โดยจำนวนทั้งหมดอาจสูงถึงกว่า 1 พันล้านแอพในปัจจุบัน ซึ่งมีให้เลือกใช้มากมายทั้งด้านสุขภาพ การเงิน งาน เครือข่ายสังคม ฯลฯ

แต่ในบรรดาแอพมากมายมหาศาลทั่วโลกนั้นมีเพียง 1.75 ล้านแอพเท่านั้นที่ได้รับความนิยมในปี 2559 แต่ประมาณว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 ล้านแอพในปีนี้ ในขณะที่พฤติกรรมผู้ใช้สมาร์ทโฟนก็คุ้นชินกับการใช้แอพเหล่านี้และยินยอมจ่ายค่าบริการหรือใช้แอพเหล่านี้จับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มากขึ้นจนมีมูลค่ามากกว่าราคาสมาร์ตโฟนที่ใช้กันอยู่

ในด้านบวกจะเห็นแนวโน้มเช่นนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะเห็นธุรกิจดั้งเดิมที่ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการขับเคลื่อนต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบเช่นธนาคารและสถาบัน

การเงินที่ทยอยปิดสาขาลงไปมากมาย

ทั้ง ๆ ที่ในอดีตการเติบโตของธนาคารขึ้นอยู่กับการเปิดสาขาใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งแต่ละสาขาที่เปิดบริการนั้นหมายถึงต้นทุนในการซื้อที่ดินราคาแพงบวกกับค่าก่อสร้าง ค่าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และค่าจ้างพนักงาน ฯลฯ

ในขณะที่บริษัทด้านไอทีหลาย ๆ แห่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธนาคารมาก่อนกลับก่อตั้งธนาคารขึ้นมาได้และประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาเพียง 2 ปีเช่น Webank ในเครือ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านออนไลน์ของจีนที่มีฐานผู้ใช้มากกว่าพันล้านคน

เมื่อไม่มีต้นทุนมหาศาลเป็นภาระ Webank จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และใช้ระบบฐานข้อมูลลูกค้าที่ทันสมัยอนุมัติสินเชื่อได้ในเวลาเพียง 3 นาทีซึ่งทำให้การ “ทรานส์ฟอร์ม” ลูกค้ามาสู่ระบบเป็นไปได้อย่างก้าวกระโดด

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้บางคนที่แม้จะยังอายุไม่มากแต่เมื่อปรับตัวไม่ทันก็ต้องออกจากธุรกิจไปโดยไม่เกี่ยงว่าจะมีอายุเท่าใด เพราะคลื่นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เปิดโอกาสให้มีคนขึ้นมาโต้คลื่นได้อย่างเต็มที่ แต่ใครที่ไม่พร้อมก็อาจต้องถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งจนค่อยๆ จมหายไปกับหาดทรายในที่สุด