ธุรกิจเอสเอ็มอีกับความรู้ เกี่ยวกับการฟอกเงิน

ธุรกิจเอสเอ็มอีกับความรู้ เกี่ยวกับการฟอกเงิน

เรื่องของการฟอกเงิน เป็นอาชญากรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั่วไปอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบได้ต่อสังคมทั่วไปในวงกว้าง

ที่ผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีควรให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในการต่อต้านการฟอกเงิน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและการมีการบริหารกิจการที่ดี

กฎหมายไทย ได้ระบุว่า การฟอกเงิน หมายถึง การนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเปลี่ยนสภาพให้เป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยกฎหมายแบ่งประเภทของความผิดในขอบข่ายของการฟอกเงินออกตามความผิดมูลฐาน 11 ข้อ ได้แก่ 1.ยาเสพติด 2.การค้าทางเพศ หญิงและเด็ก 3.ฉ้อโกงประชาชน 4.ผู้บริหารใช้เงินทุจริต 5.ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยมิชอบ 6.อั้งยี่และซ่องโจร 7.ลักลอบหนีศุลกากร 8.การก่อการร้าย 9.การเล่นการพนัน 10.การซื้อสิทธิขายเสียง และ 11.การค้ามนุษย์

รวมถึงอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จำนวน 9 อาชีพ เช่น (1) อาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมนี เพชรพลอยหรือทองคำ (2) อาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า (3) อาชีพรับแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา (4) อาชีพที่ให้บริการโอนและรับโอนมูลค่าเงินทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงิน 

(5) อาชีพประกอบธุรกิจคาสิโนหรือบ่อนการพนัน (6) อาชีพประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ (7) อาชีพค้าอาวุธยุทธภัณฑ์ (8) อาชีพบริษัทหรือนายหน้าจัดหางาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับคนเข้ามาทำงานจากต่างประเทศหรือส่งคนไปทำงานในต่างประเทศ และ (9) อาชีพธุรกิจนำเที่ยว บริษัททัวร์ เป็นต้น

ผู้ประพฤติผิดตามความผิดมูลฐานเหล่านี้ มักจะหาวิธีในการฟอกเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ให้กลายเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ดูเสมือนได้มาโดยชอบด้วยวิธีการต่างๆ

กระบวนการที่นักฟอกเงินมักจะนำมาใช้ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาเข้าสู่ระบบการเงินหรือระบบธุรกิจตามปกติ เช่น การแบ่งเงินออกเป็นหลายๆ ส่วน นำเข้าธนาคารหลายแห่ง หรือ นำทรัพย์สินมาแยกส่วนผ่านการซื้อขายทั่วๆ ไป ทำให้เงินสดก้อนใหญ่ หรือทรัพย์สินอยู่ในรูปแบบที่เล็กลง สามารถเคลื่อนย้ายและจัดการได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนที่ การย้ายที่มาของเงิน เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ และตัดการเชื่อมโยงของข้อมูลระหว่างรายได้ หรือแหล่งที่มาของรายได้ที่เป็นต้นกำเนิดของการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจทำได้โดยการทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อน หรือการซื้อขาย โอนย้ายทรัพย์สิน ผ่านระบบธุรกิจหลายๆ ชั้น

ขั้นตอนที่3 การนำเงินกลับมาใช้ผ่านระบบเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมายอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบที่อาชญากรสามารถนำเงินเหล่านี้มาใช้ได้โดยดูเสมือนว่าเป็นรายได้หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจปกติ เช่น การเปลี่ยนสภาพจากเงินฝากในธนาคาร นำมาซื้อบ้านหรือรถหรูราคาแพง เป็นต้น

ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีจะมีวิธีการอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้เจ้าของหรือธุรกิจของตนเองต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมการฟอกเงินได้โดยไม่ตั้งใจหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

แนวปฏิบัติเบื้องต้น ทำได้ดังนี้

  1. สังเกตพฤติกรรมการทำธุรกิจที่น่าสงสัย เช่น ลูกค้าปกปิดชื่อและนามสกุล หรือใช้ชื่อนามสกุลปลอม ไม่ยอมแสดงเอกสารระบุตัวตน เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือ บัตรที่มีรูปถ่ายของเจ้าของบัตรประกอบ หรือไม่ได้เข้าติดต่อธุรกิจด้วยตัวเอง แต่ใช้ผู้อื่นมาติดต่อทำการแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าที่เป็นลูกค้าจร
  2. มีการติดต่อทำธุรกิจมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มักจะมีข่าวเกี่ยวกับการฟอกเงิน ปรากฏชื่ออยู่ในบัญชีประกาศต่างๆ เช่น UN Sanction List หรือธุรกิจต่างประเทศที่ไม่มีการระบุที่อยู่หรือสถานที่ติดต่ออย่างชัดเจน
  3. ระมัดระวังเมื่อต้องทำธุรกิจกับบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง เช่น บุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง และมีอำนาจหน้าที่สำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง และมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการควบคุมและบริหารในราชการส่วนกลาง ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง และมีอำนาจบังคับบัญชาในระดับสูงของฝ่ายทหารหรือฝ่ายตำรวจ

และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงหรือกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองของประเทศไทย ให้รวมถึงบุคคลธรรมดาที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่งซึ่งพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่เกินหนึ่งปีหรือยังคงมีบทบาทเกี่ยวข้องกับตำแหน่งดังกล่าวแม้จะพ้นจาก ตำแหน่งมาแล้วเกินหนึ่งปีก็ตาม

โดยรวมถึง สมาชิกในครอบครัว ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร และผู้ร่วมงานใกล้ชิดที่ได้รับมอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สิน หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ร่วมหรือร่วมสร้างธุรกิจ และนักการเมืองท้องถิ่น

ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมการฟอกเงิน อาจหาข้อมูลได้จากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลกฎหมายการฟอกเงิน ซึ่งได้แก่ ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) หรือจากแหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไป

ก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้บริหารจัดการธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ได้อีกวิธีหนึ่ง