เรื่องที่น่าเสียใจในระบบสาธารณสุขภาครัฐ

เรื่องที่น่าเสียใจในระบบสาธารณสุขภาครัฐ

ความบาดหมางกระทบกระทั่งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยกับผู้ป่วยและญาติพี่น้องผู้ป่วยดูจะมีให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นทุกที

ที่จริงก็เข้าใจได้ว่าแพทย์พยาบาลผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการต่างก็มีความคาดหวังในการให้และรับบริการทางการแพทย์ที่ดี แต่บางครั้งสภาพแวดล้อมในสภาวะวิกฤติก็ทำให้มองว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ถ้าได้รับบริการดีที่สุดแล้วก็อาจไม่เกิดเรื่องราวเช่นนี้ ในขณะแพทย์พยาบาลผู้ให้บริการก็ได้แต่เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคิดว่าได้ทำดีที่สุดแล้วในสภาพและเหตุการณ์นั้น

งานบริการไม่ว่าจะเรื่องอะไร มีลักษณะอย่างหนึ่งเหมือนกันคือผู้ให้บริการที่ดีจะต้องมี serviced mind มีใจที่จะให้บริการอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันผู้รับบริการก็ต้องเข้าใจในงานบริการเหมือนกันว่ามันมีข้อจำกัดในหลายๆเรื่องที่อาจทำให้งานบริการไม่ดีที่สุดเท่าที่ตนอยากได้ และถ้าผู้รับบริการลองสวมหมวกผู้ให้บริการก็จะรู้ว่าหลายอย่าง แม้อยากจะทำก็ทำไม่ได้

นี่เป็นงานบริการทั่วไป

แต่งานบริการทางการแพทย์มันมากกว่านั้น เพราะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แพทย์พยาบาลบุคคลากรทางการแพทย์เปรียบเสมือนนักรบที่จะต้องทำหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อเข้าสู่สนามรบ ซึ่งก็คือโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับผู้ป่วย สิ่งที่บุคคลากรทางการแพทย์ต่อสู้ในทุกนาทีทุกชั่วโมงทุกวันเดือนปีก็คือจะทำอย่างไรที่จะเอาชนะศัตรูที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บของผู้ป่วยให้หมดไป ไม่ใช่เอาชนะผู้ป่วย

เมื่อได้ทำดีที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับความจริงว่าหลายอย่างหลายโรคสามารถรักษาหายได้ แต่อีกมากมายหลายโรคที่ยังรักษาไม่ได้ แต่แพทย์พยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์วิชาชีพก็ต้องพยายามประคับประคองจนกว่าจะถึงนาทีสุดท้าย

ในช่วงเวลาสั้นๆตั้งแต่เมื่อผู้ป่วยถูกนำมาพบแพทย์ จนถึงนาทีสุดท้าย ไม่ว่าอยู่หรือจากไป จึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายอยู่กับความเครียด และเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นก็กลายเป็นนาทีแห่งความร้าวฉานได้โดยง่าย

แพทย์พยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย เหมือนลิ้นกับฟันที่หลายครั้งก็มีกระทบกระแทกกันบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะถ้าไม่มีคนป่วย ก็ไม่ต้องมีแพทย์ และถ้าไม่มีแพทย์ ก็ไม่ต้องมีการรักษา นอนรอความตายที่บ้านตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ไม่ว่าดีหรือไม่ดีระหว่างบุคคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน โอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกันก็จะน้อยลง

ในประเทศที่พัฒนาแล้วได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องมนุษยสัมพันธ์มานานแล้ว และได้ยกระดับให้มีผู้อำนวยการบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารในสถานพยาบาลให้ทำหน้าที่บริหารจัดการองค์กรที่ไม่ใช่งานรักษาพยาบาล และทำหน้าที่สื่อสารองค์กรกับบุคคลภายนอก ผู้รับบริการ สังคม ชุมชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสถานพยาบาลนั้น ซึ่งหลายสถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยได้เล็งเห็นความสำคัญและเปิดการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานพยาบาลอย่างจริงจังในหลายหลักสูตร แต่ดูเหมือนยังไม่มีในประเทศไทย

การบริหารจัดการสถานพยาบาลรัฐจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโลกปัจจุบัน เราอยู่กับอดีตที่มีนายแพทย์ใหญ่เป็นผู้อำนวยการคนเดียว ดูแลทั้งด้านการรักษาพยาบาลและบริหารจัดการองค์กรตั้งแต่เมื่อสมัยที่สถานพยาบาลเป็นองค์กรเล็กๆ มีข้าราชการพนักงานไม่กี่คน ดูแลประชาชนในพื้นที่ไม่กี่หมื่นคนหรือแสนคนในแต่ละจังหวัด ในขณะที่ปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลมีบุคคลากรทางการแพทย์และพนักงานช่วยทำหน้าที่ต่างๆนับร้อย แต่ละพื้นที่บริการมีประชาชนนับแสนนับล้านหรือหลายล้านคน มีผู้มาใช้บริการปีละหลายสิบล้านครั้ง แต่ระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลรัฐของเราก็ยังเหมือนเดิม

ระบบการบริหารจัดการองค์กรโรงพยาบาลรัฐเช่นว่านี้ ไม่มีความยืดหยุ่น ติดกรอบระเบียบราชการทั้งหมด ปรับเปลี่ยนอะไรเองไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยผู้รับบริการมีความหลากหลายมากขึ้น ประชาชนพัฒนาตัวเองมากขึ้น และคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดีมากขึ้น เมื่อไม่ได้ตามสิ่งที่คาดหวัง ก็มีความผิดหวัง และเกิดการกระทบกระทั่งดังปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆมาโดยตลอด

น่าจะถึงเวลาแล้วที่ระบบสาธารณสุขของเราต้องถูกปฏิรูป กระจายอำนาจให้องค์กรสถานพยาบาลมีอิสระในการบริหารจัดการตัวเอง ส่วนกลางเพียงทำหน้าที่ดูแลในภาพรวมมากกว่าจะเข้าไปวางกฎเกณฑ์ทุกขั้นตอนจนองค์กรขยับไม่ได้ ทั้งๆที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว

ระบบสาธารณสุขของรัฐถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดี ประชาชนคือทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ ประเทศจะเจริญแค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับคนในชาติ

โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของรัฐถูกจำกัดในหลายเรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ เรายังขาดแพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์อีกมาก เรายังขาดงบประมาณมหาศาลจนถึงกับทำให้หลายโรงพยาบาลประสบสภาวะขาดทุนจากการดำเนินการ เป็นปัญหาเรื่อรังมานานหลายปี เงินเดือนค่าจ้างค่าตอบแทนบุคคลากรทางการแพทย์ต่ำต้อยกว่าภาคเอกชนจนทำให้เกิดสภาวะสมองไหลออกตลอดเวลา บุคคลากรทำงานมาก ถึงขั้นเครียด ทำให้ชีวิตตัวเองและครอบครัวไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ควร ขาดขวัญกำลังใจในเกือบทุกๆด้าน และสิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบถึงการให้บริการประชาชนอย่างแน่นอน

 

น่าจะถึงเวลาที่จะต้องยกระดับบุคคลากรทางการแพทย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะการที่องค์กรจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น บุคคลากรต้องมาก่อน ถ้าพวกเขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วจะให้ฝืนยิ้มกับผู้รับบริการก็คงทำได้ยาก

 

โรงพยาบาลต้องมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการตนเอง สามารถกำหนดงบประมาณประจำปีเสนอส่วนกลางได้โดยตรงและรับเงินจัดสรรจากส่วนกลางโดยตรงเช่นกัน มีสถานะเป็นหน่วยรับจัดสรรงบประมาณเหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งหน้าที่และค่าตอบแทนของบุคคลากรทางการแพทย์จะต้องถูกยกระดับให้สูงขึ้นใกล้เคียงกับเอกชนมากขึ้น จริงๆแล้วผู้อำนวยการโรงพยาบาลควรจะอยู่ในระดับเดียวกับผู้ว่าราชการ หัวหน้าศาล อัยการจังหวัด หรือเทียบเท่าอธิบดี เหมือนเช่นผู้ว่าราชการ หรือเอกอัครราชทูตที่ประจำประเทศต่างๆ ซึ่งตำแหน่งเท่าอธิบดีกรมมานานแล้ว

 

และสุดท้าย ทุกสถานพยาบาลต้องมีผู้อำนวยการบริหารที่ดูแลงานบริหารจัดการทุกอย่างที่ไม่ใช่งานรักษาพยาบาล และทำหน้าที่สื่อสารองค์กรกับสังคมชุมชน สร้างความเข้าใจอันดีกับผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ที่ไม่มีใครได้อะไร มีแต่เสียกับเสีย